Podcast – EP.11 สมการ..โอกาส กับการถือกำเนิดของแบรนด์ดัง

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

Podcast - EP.11 สมการ..โอกาส กับการถือกำเนิดของแบรนด์ดัง

MarketingOops! Brand Life Podcast EP.11 ชวนฟังเรื่องราวสนุกๆ ในแบบ Story Telling โดย อธิกร ศรียาสวิน (ก้า อรินธรณ์) ผู้อำนวยการสถาบัน Academy of Business Creativity (ABC) ม.ศรีปทุม นักการตลาดอินดี้ ที่ปรึกษาด้านครีเอทีฟแบรนดิ้ง ภายใต้หัวข้อ “สมการ..โอกาส กับการถือกำเนิดของแบรนด์ดัง

 

โอกาส เท่ากับ “ความพยายาม + การเตรียมพร้อม”

วันนี้ขออนุญาตเริ่มต้นจากสมการทางชีวิต

ที่หลายๆ ท่าน คงเคยได้ผ่านตา สมการข้างต้นนี้

โอกาส = ความพยายาม + การเตรียมพร้อม

 

แต่โลกยุคปัจจุบัน ที่ในทุกๆ เรื่อง ทั้งเรื่องชีวิต เรื่องการทำงาน ในการสร้างแบรนด์ต่างๆ มันมีการแข่งขันสูง มีแบรนด์ตัวเลือกมากมาย

และถ้าคุณกำลังเกิดความรู้สึกว่า โอกาสในชีวิตในยุคปัจจุบันนี้ มันช่างหาได้ยากซะจริงๆ วันนี้มีบางเรื่องราวที่น่าสนใจ สำหรับวิธีการค้นหาโอกาสที่ซ่อนตัวอยู่มาเล่าสู่กันฟัง..

 

ตำนานแห่งสวีเดน

เรื่องแรกเกิดในดินแดนชนบทอันหนาวเหน็บของสวีเดน

เด็กชายคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นด้วยอาการการเรียนรู้บกพร่อง  แต่ตัวเขาเองกลับมีความเชื่ออยู่เสมอว่า เขานั้นหัวดีในเรื่องธุรกิจ จึงเริ่มต้นธุรกิจด้วยการขายเมล็ดพันธุ์พืชในโรงเก็บของ ใช้เวลาเพียงปีเดียว ก็สามารถเก็บเงินซื้อจักรยานได้เอง และใช้จักรยานนี้เป็นพาหนะ ในการเปิดกิจการการขายไม้ขีดไฟ

โดยเขาซื้อไม่ขีดไฟในจำนวนมากๆ แล้วนำมาแบ่งใส่กลักเล็กๆ เพื่อขายปลีก ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด จนทำให้พบแนวคิดว่า

อะไรก็ตามเมื่อนำมาขายในจำนวนมากๆ ก็สามารถทำกำไรที่ดีได้

เขาใช้เงินรางวัลที่ครอบครัวมอบให้ตอนเรียนจบชั้น ม.ปลาย มาก่อตั้งกิจการร้านขายของจิปาถะ โดยมีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ จัดพิมพ์แค็ตตาล็อค และเปิดบริการการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางไปรษณีย์ โดยร้านนี้ขายของทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น สมุด ปากกา กรอบรูป นาฬิกา ถุงน่องและเครื่องประดับต่างๆ

ในปี 1950 รัฐบาลสวีเดน ออกโครงการ “บ้านหนึ่งล้านหลัง” ชายหนุ่มมองเห็นลู่ทางการขยายธุรกิจ เขาจัดการสั่งเฟอร์นิเจอร์มาจำหน่ายในร้าน

และแน่นอนว่า ด้วยสถานการณ์ที่เป็นใจในเวลานั้น มันขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนเขาต้องขยายร้าน ด้วยการสร้างโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ขึ้น โดยออกแบบห้องโชว์ ให้เหมือนแคทตาล็อคแสดงสินค้า ซึ่งเน้นการโชว์เฟอร์นิเจอร์ในพื้นที่ใช้งานจริง

โดยใช้แนวคิดการตั้งราคาเช่นเดียวกับธุรกิจไม้ขีดไฟของเขา คือ ตั้งราคาให้ถูกกว่าคู่แข่ง แต่เน้นกำไรจากการขายในปริมาณเยอะๆ

ผลก็คือ ร้านของเขาขายดี จนต้องถูกกดดันจากคู่แข่งร้านอื่นๆ ที่รวมตัวกันต่อต้าน ไม่ให้ซัพพลายเออร์โรงงานที่ผลิตสินค้า ส่งเฟอร์นิเจอร์ให้เขาขาย

เมื่อไม่มีสินค้าขาย แทนที่มันจะเป็นปัญหา แต่เขากลับพลิกวิกฤตครั้งนั้น ด้วยการก่อตั้งแผนกดีไซน์ เพื่อออกแบบและผลิตเฟอร์นิเจอร์ขึ้นมาขายเอง

แล้ววันหนึ่ง พนักงานฝึกหัดในแผนกดีไซน์ ลงมาช่วยขนโต๊ะตัวใหญ่เพื่อไปส่งให้กับลูกค้า แต่พบว่าขาของโต๊ะตัวนั้น มันยืนออกมาจากรถทำให้ขนโต๊ะไปไม่ได้

“ให้ตายเถอะ ถอดขาโต๊ะออกมา แล้วเก็บไว้ข้างล่างละกัน..”

ด้วยเพียงประโยคสั้นๆ จากการส่งของไม่ได้นั้น

แต่มันถูกพัฒนาไปจนกลายเป็นไอเดียแนวคิดธุรกิจการทำเฟอร์นิเจอร์ แบบแบนราบ ที่ผู้ซื้อจะต้องนำไปประกอบเองที่บ้าน ช่วยลดภาระต้นทุนการขนส่ง แถมเป็นเฟอร์นิเจอร์คุณภาพสูง ซึ่งผลิตในคราวละมากๆ แต่สามารถจำหน่ายได้ในราคาถูก จนทำให้เขากลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเฟอร์นิเจอร์ของโลก

นี่เป็นเรื่องราวของ อิงวาร์ คัมปราด (Ingvar Kamprad) เด็กชายที่เกิดจาก ฟาร์มเอล็มทารีด (Elmtaryd) ณ หมู่บ้านออเกอุนนารีด (Agunnaryd) ประเทศสวีเดน

ซึ่งชื่อกิจการนั้น ตั้งขึ้นจากอักษรตัวแรกของ ชื่อ นามสกุล ชื่อฟาร์ม และชื่อหมู่บ้าน เอามารวมกัน

กลายเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในวงการเฟอร์นิเจอร์ของโลกนามว่า “IKEA”

 

 

ตำนานบะหมี่แห่งร้อยเอ็ด            

บินลัดฟ้ากลับมาที่เมืองไทย เรื่องเล่าที่สอง เกิดขึ้น ณ ชนบทของอันกันดานแห้งแล้ง ใน จ.ร้อยเอ็ด มีเด็กชายคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นอย่างยากจน  แต่ตัวเขามีความรู้สึกอยู่เสมอว่า ตัวเองนั้นหัวดี ในโรงเรียนซึ่งใช้กระดานชนวนในการเรียน ที่จดแล้วต้องลบทิ้ง กลับเป็นบ่อเกิดของความจำอันดีเยี่ยม แต่ว่าเขาก็มีโอกาสได้เรียนแค่ ป.4 เท่านั้น

เขาออกจากบ้านมาหางานทำ งานแรกๆ ที่ทำคืองานใช้แรงงานเก็บฝ้าย ชายหนุ่มผ่านงานมากมายทั้งเป็นลูกจ้างในโรงงานทำน็อต คนสวน ทำงานรับจ้างต่างๆ สารพัน รวมทั้งไปถีบรถขายไอติม จนชีวิตพลิกผัน เพราะน้องชายชวนให้เข้ามาลองขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น

ทำงานอย่างมุมานะ ขยันขันแข็ง ขายก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่เที่ยงวันยันตีสาม ขายทุกวัน แบบไม่มีวันหยุด

จนวันหนึ่งเขาสังเกตว่า กำไรจากการขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใสของเขา น้อยกว่ากำไรจากร้านน้องชาย ที่ขายบะหมี่เกี๊ยวหมูแดง เขาจึงตัดสินใจว่า จะเพิ่มยอดการขาย ด้วยการสั่งบะหมี่เกี๊ยวมาขายเพิ่ม

แต่โชคชะตาเล่นตลก เจ้าของโรงงานบะหมี่เกี๊ยว ไม่ยอมให้รถส่งของขับมาส่งบะหมี่ให้ โดยบอกว่า รถส่งของไม่วิ่งผ่าน วันนั้น เขาตั้งปณิธานไว้ในใจว่า

“ถ้ามีโอกาสได้ทำโรงงานบะหมี่เองเมื่อไหร่ ใครอยากขาย เขาจะส่งไปให้ถึงมือทั่วเมืองไทย…”

เมื่อโรงงานไม่ยอมส่ง เขาใช้วิธีให้น้องชายรับบะหมี่เพิ่มมาให้ แล้วนำมันมาขายจนมียอดขายเพิ่มขึ้น ได้กำไรมากกว่าคืนละ 3,000 บาท ใช้เวลาราวสองปี เขามีเงินเก็บกว่าเจ็ดแสน เพื่อเริ่มต้นธุรกิจที่ฝันไว้

ด้วยความคิดว่า ถ้ามีโอกาสได้ทำเส้นบะหมี่ เขาจะทำเส้นให้ดีที่สุด เพราะปัญหาของคนขายบะหมี่ คือเส้นบะหมี่ที่ไม่มีคุณภาพ ใช้เวลาแรมปี กับการลองผิดลองถูก โดนคนหลอก โดนต้ม แต่ก็ฝ่าฟันศึกษาด้วยตัวเองจนสามารถผลิตบะหมี่คุณภาพดี ขึ้นมาได้สำเร็จ

หลังการทดลองทำเส้นบะหมี่เอง และขายบะหมี่เกี๊ยวจนมีเงินเก็บ เขาตัดสินใจซื้อรถปิ๊คอัพ ซื้อสร้อยทอง และขับรถกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่ร้อยเอ็ด เมื่อมีคนถามว่าไปทำอะไรมาถึงรวย เขาจะตอบว่า “ขายบะหมี่” จนกลายเป็นที่มาของการบอกต่อ เป็นไวรัลความเชื่อว่า ขายบะหมี่ก็รวยได้ ทำให้คนใกล้ชิดในหมู่บ้าน บอกต่อๆ กันไป ทุกคนต่างเดินทางเข้ามาหา เพื่อสั่งซื้อบะหมี่จากโรงงานของเขาไปขาย

เขาขายบะหมี่ตามแนวทางที่ตั้งใจไว้ บริการผู้ซื้อแบบสุดๆ ใครสั่งก็ส่ง แถมยังช่วยหาทำเลการขาย หารถเข็น หาบ้านเช่าให้ สอนวิธีอบหมูแดง สอนวิธีลวกบะหมี่ สอนจ่ายตลาด จนลูกค้าที่สั่งบะหมี่ไปขาย ทุกคนล้วนขายดี รายได้ดี มีแต่คนบอกต่อ ทำให้บะหมี่ของเขาถูกส่งไปขายในหลายๆ จังหวัด และโด่งดังเป็นพลุแตก เมื่อได้ไปออกรายการโทรทัศน์จนมีชื่อเสียง

จุดพลิกผันของเขา เกิดขึ้นในวันหนึ่ง ที่มีโทรศัพท์จากหาดใหญ่ โทรศัพท์สายนั้นโทรมาต่อว่าว่า บะหมี่ของเค้าบูดเน่า เส้นขาด สีไม่สวย สาเหตุเพราะใช้เวลานานในการขนส่งทางรถทัวร์

เขาไม่รีรอ จัดการพลิกวิกฤติครั้งนั้น ให้กลายเป็นโอกาสในการขยายโรงงานไปตามภูมิภาคต่างๆ อีกกว่า 6 สาขา ซึ่งปัจจุบันมันกลายเป็นโรงงาน เป็นศูนย์กระจายสินค้าในทุกภาคของประเทศ ทำให้บะหมี่ของเขาสามารถส่งไปขายได้ทั่วประเทศไทย สมตามความตั้งใจ

นี่คือเรื่องราวของ พันรบ กำลา ผู้ที่ถือกำเนิดจาก หมู่บ้านหนองมะเขือ อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งชื่อกิจการของเขานั้นตั้งขึ้นมาจากความชอบดูหนังจีน กำลังภายใน และอยากได้ชื่อโดดเด่นที่เห็นครั้งเดียว ใครๆ ก็จดจำได้

จนกลายมาเป็นแฟรนไชน์ชื่อดัง “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว”

 

หากลองวิเคราะห์สองเรื่องราวชีวิตนี้ แล้วก็สามารถสรุปสั้นๆ เป็นสมการได้ว่า

โอกาส = ความพยายาม + การเตรียมพร้อม

ที่เดินทางมารวมตัวกับ ความคิด + ความเชื่อ

องค์ประกอบแบบนี้เอง ที่เมื่อมันประกอบร่างกันเข้า ก็จะกลายเป็นพลังอันเข้มแข็ง ช่วยทำให้การไขว่คว้าโอกาส ที่แม้จะแลดูว่าอยู่แสนไกล ให้มาอยู่ในมือคุณได้

ถ้าคุณยังคิดว่า โอกาส เป็นของหายาก

ลองสละเวลา มาสำรวจองค์ประกอบของสมการนี้ในตัวเองสักนิด

 

สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่

Google Podcasts


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
ก้า อรินธรณ์
อธิกร ศรียาสวิน (ก้า อรินธรณ์) ผู้อำนวยการสถาบัน Academy of Business Creativity (ABC) ม.ศรีปทุม นักการตลาดอินดี้ ที่ปรึกษาด้านครีเอทีฟแบรนดิ้ง