Marketing Oops! The Untold Insights EP.4 ชวนฟังเรื่องราวสนุกๆ ข้อมูลชิงลึก ที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน โดย ณีว มาวิจักขณ์ Managing Partner – Marketing & Development, GroupM Thailand และ แพน จรุงธนาภิบาล Director – Marketing & Development, GroupM Thailand ซึ่ง Episode นี้เป็นจะมาชวนพูดคุยพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อผู้บริโภคได้ “โบนัส” คนมีการวางแผนการใช้เงินรูปแบบไหนอย่างไรบ้าง และแบรนด์จะฉกฉวยโอกาสนี้ได้อย่างไร
อย่างที่ทราบกันดีว่าช่วงนี้หลายๆ บริษัทเริ่มได้รับ “โบนัส” กันแล้ว เราเลยหยิบเรื่องนี้มาพูดกัน ทั้งนี้ หลายบริษัทเริ่มปรับแผน และมีการจ่ายโบนัสหรือขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงาน มีความพิเศษมากเพราะว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรื่องของการให้โบนัส หรือเงินพิเศษต่างๆ มันหายไป ซึ่งหลายคนได้รับความเดือดร้อนมากทีเดียวในช่วงนั้น ดังนั้น การที่มีการจ่ายเงินพิเศษก็ดีหรือการมอบโบนัสก็ดี มันทำให้เม็ดเงินมันเริ่มหมุนเวียนกลับเข้ามา
ย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดวิกฤติโควิดขึ้นทำให้สถานการณ์ต่างๆ ค่อนข้างแย่ ดังนั้น หลายๆ บริษัทก็ต้องประคับประคองการเงินเพื่อให้อยู่รอดไปได้ แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ บางบริษัทก็เริ่มมีการประกาศมอบโบนัสให้พนักงานกันแล้ว ดังนั้น ลองมาคลี่ดูกันดีกว่า Insight สำหรับคนที่ได้เงินพิเศษตรงนี้มีอะไรน่าสนใจกันบ้าง
จากการสำรวจของเราพบว่า หลักๆ คนที่นำเงินพิเศษตรงนี้ไปใช้เป็นไปได้อยู่ 2 วิธี ได้แก่ Long Term และ Short Term
ปัญหาแรกๆ เลยเมื่อได้เงินมาคือเขาจะนำไปใช้อุดหนี้หรือปลดหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤต ซึ่งพบ Insight ว่าคนในช่วงนั้น ต้องกู้หนี้ยืมสิน เพราะว่าบางคนถูกปลดออกจากงาน หรือบางคนโดนลดเงินเดือน ดังนั้น เมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนเมื่อได้เงินก้อนพิเศษนี้มาก็เลยรีบเคลียร์ทุกอย่างเพื่อให้เกิดความสบายใจมากขึ้น นี่คือการใช้เงินในรูปแบบ Long Term
อีกวิธีของการใช้เงินแบบ Long Term ก็คือเรื่องของการลงทุน แต่คนไทยยังมองว่า การลงทุนไม่คุ้มค่า และมีความเสี่ยง มีตัวอย่างปีที่แล้ว กับคนที่ลงทุนไปกับ NFT หรือดิจิทัล เคอร์เรนซี่ มีทั้งคนติดดอยหรือขาดทุนกันไปค่อนข้างเยอะ มุมหนึ่งที่คนมาลงทุนตรงนี้คิดว่าเก็บเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า สรุปง่ายๆ ว่า เงินใครก็อยากได้ แต่การที่จะได้มาก็ต้องมีความมั่นคงและรอบคอบ ไม่มีความเสี่ยง
เมื่อมองว่าการเงินแบบช้าๆ รูปแบบนั้นไม่ทันใจ ก็จะมีอีกแบบที่เรารู้จักกันก็คือการใช้เงินแบบ Short Term คนไทยเริ่มใช้จ่ายในแบบที่เรียกว่า ‘เปย์ให้ตัวเอง คือเอาไปกินไปใช้ ไปเที่ยว และรู้สึกว่า ทำไมต้องมานั่งอดทนกับการนำเงินไปใช้ด้วย ดังนั้น ตอนนี้ก็เลยจะขอนำเงินไปใช้สนองความอัดอั้นที่ถูกกดมานานสักหน่อย เพียงแค่รอเงินที่จะเข้ามาในกระเป๋าเท่านั้น
สำหรับ Insight ของการใช้เงินรูปแบบ Short Term นั้น เมื่อมีโบนัสหรือเงินก้อนพิเศษเข้ามา สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท 1) การออกไปทานอาหารนอกบ้าน 2) ซื้อสินค้าราคาแพง เช่น มือถือ หรือสินค้าลักซ์ชูรี่ 3) การไปร่วมอีเวนต์กิจกรรมต่างๆ เช่น การซื้อตั๋วคอนเสิร์ต ทำในสิ่งที่ช่วงล็อกดาวน์ทำไม่ได้ ทั้งหมดนี้ลิงก์กับเทรนด์ที่เรียกว่า Revenge Trends
Revenge Trends
เทรนด์ของการแก้แค้น (คลิกอ่านเพิ่มเติม) ด้วยที่ผ่านมาผู้คนส่วนใหญ่ให้เวลาไปทุ่มเทกับสิ่งอื่นมากกว่าการให้เวลากับตัวเอง โดยจะมีเทรนด์สำคัญในช่วงนี้คือ ‘เทรนด์การไม่นอน’ คือเอาเวลาที่ทำงานเสร็จหรือทำธุระเสร็จแล้ว เอาไปดูหนังดูซีรีส์หรือเล่นเกม แล้วไม่ยอมนอน ‘เทรนด์การท่องเที่ยว’ คือไม่คิดที่จะเซฟเงินแล้วแต่ขอออกไปเที่ยวดีกว่า เพราะคนเราแทบไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย โดยเฉพาะการไปต่างประเทศ ทำให้คนเราเกิดความเก็บกด เมื่อมีเงินก็ใช้มันให้เต็มที่
อีกสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาซึ่งอาจจะไม่ได้เรียกว่าเทรนด์เสียทีเดียว แต่เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากมีเงินในช่วงนี้ก็คือ คนนำเงินที่ได้ไปดูแลตัวเองอัปตัวเองให้ดูดี หลายคนรู้สึกว่าการลงทุนกับตัวเองนั้นถึงเวลาแล้ว เช่น บางคนไปทำศัลยกรรม เติมฟิลเลอร์ หรือฉีดโบท็อกซ์ เพราะว่าเราต้องเริ่มออกมาเจอผู้คนกันแล้วและมองว่าเรื่องของลุคก็สำคัญเช่นกัน เพราะผู้คนก็ต้องการที่โชว์ตัวเองบนโซเชียลมีเดียเช่นกัน
พอจะสรุปคร่าวๆ ได้ว่าเมื่อคนไทยได้เงินก้อนจากโบนัสแล้ว นอกเหนือจากนำเงินไปเคลียร์หนี้สิน เอาไปใช้กินใช้เที่ยว แล้วก็ยังนำไปดูแลตัวเองอีกด้วย
Brand Takeaway
เมื่อพูดถึงการมีเงิน หรือความรวย คนรุ่นใหม่มองเรื่องนี้ว่ามันคือ “อิสรภาพ” มันคือการใช้ชีวิตได้อย่างไม่ต้องกังวล ซึ่งเมื่อค้น Insight ก็พบว่า การใช้เงิน คือ “การให้รางวัลกับตัวเอง”
ดังนั้น พฤติกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาในเรื่องการใช้เงินโบนัสของคนไทย มันคือโอกาสของธุรกิจ แบรนด์ และนักการตลาด เพราะทำให้เห็นว่า คนไทยมีความตั้งใจที่จะใช้เงินตรงนี้อยู่แล้ว เพียงแค่รอเงินเข้าในกระเป๋า
แบรนด์และนักการตลาดจะทำอย่างไรในการสร้างสรรค์ดีมานด์ได้?
หากแบรนด์และนักการตลาดสร้างแรงกระตุ้นบางอย่างได้ เพื่อทำให้ผู้บริโภคนำเงินทีได้ไปใช้กับแบรนด์ของเรา หรือสามารถสร้างเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ได้เลย เพราะเงินกำลังจะมา ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เงินมาหยุดที่เรา
ที่สำคัญคือ ผู้บริโภครู้อยู่แล้วว่าเงินกำลังจะมา ดังนั้น ก็จะมีการเริ่มดีไซน์ เริ่มวางแผนกันแล้วว่าจะใช้เงินอย่างไร แบรนด์จะสามารถขโมยโมเมนต์ดังกล่าวสร้างมาเป็นเบเนฟิตทางธุรกิจได้อย่างไร หรือแม้แต่การทำให้แผนที่วางไว้ของเขานั้นมาอยู่ที่เราได้สิ่งนี้คือการวางแผนแบรนด์และการใช้เมสเสจให้ถูกที่ถูกเวลาเพื่อสร้างดีมานด์ขึ้นมา ตรงจุดนี้แบรนด์และนักการตลาดไม่ควรพลาดเลย
โบนัสกำลังจะมาแล้ว ละแบรนด์ละพร้อมหรือยัง.