Insights คนไทยกังวลค่าใช้จ่าย แต่ทำไม “ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้า-สินค้า Gadget” บนออนไลน์กลับโต ?

  • 589
  •  
  •  
  •  
  •  

Electronic and Gadget

ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “เวฟเมคเกอร์” (Wavemaker) สำนักงานใหญ่ที่ลอนดอน ได้ทำการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของกลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในระดับโลกผ่านบทความ Week In Review ทั้งนี้ เวฟเมคเกอร์ (ประเทศไทย) ได้จับมือกับ “กรุ๊ปเอ็ม” ร่วมกันศึกษาต่อและยอดการวิเคราะห์นี้ในบริบทของประเทศไทย

 

COVID-19 สะเทือน “ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” ทั่วโลกซบเซา

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus) ส่งผลให้เศรษฐกิจของโลกถดถอยลงไปมาก การดำเนินการทางธุรกิจของบริษัททั้งเล็กและใหญ่ในหลาย ๆ ประเทศมีการหยุดชะงัก เนื่องจากมาตรการในการควบคุมโรคระบาดของแต่ละประเทศที่เพิ่มความรัดกุมและเป็นสาเหตุที่ทำให้สายงานด้านการผลิตไม่สามารถที่จะนำเข้าชิ้นส่วนและเปิดโรงงานการผลิตได้อย่างปกติ

มีการคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีแรก ความสามารถในการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญอย่างสมาร์ทโฟนทั่วโลกจะลดลงไปถึง 30% ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่มีความระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่ายที่มากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงที่มาจากอุปสงค์และอุปทานข้างต้นนี้มีผลโดยตรงต่อการวางแผนในอนาคตของแบรนด์และนักการตลาด

“เวฟเมคเกอร์” ได้ทำการสำรวจการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคในระดับโลกในช่วงการแพร่ระบาดของสถานการณ์ COVID-19 รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเน้นไปในเรื่องของใช้ส่วนตัว อย่างโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

คุณณัฐดนัย ตระการวัฒนวงศ์ เจ้าหน้าที่แผนกพัฒนาและการตลาดของ กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ได้รวบรวมข้อมูลและทำการสรุปผลสำรวจของเวฟเมคเกอร์ ในบริบทของโลกออกมาได้เป็น 3 ส่วน คือ ด้านธุรกิจ ด้านผู้บริโภค และด้านแบรนด์ ดังนี้

Wavemaker

 

ด้านธุรกิจ : COVID-19 กระทบตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า และแบรนด์มือถือเลื่อนการเปิดรุ่นใหม่ 5G

การเลื่อนการจัดการแข่งขันของสปอร์อีเว้นท์หรือกีฬาต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างโอลิมปิก ที่มีการโฆษณาและสื่อสารว่าจะมาพร้อมการถ่ายทอดสดด้วยความละเอียดขั้นสูงในระบบ 8K

โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้ในช่วงนี้ เนื่องจากผู้บริโภคขาดปัจจัยดึงดูดในการอัพเกรดสินค้าประเภทโทรทัศน์หรือทีวีภายในบ้านขึ้นเป็นสินค้ารุ่นใหม่

ผลการวิเคราะห์จาก GSMA โดยสังเกตจากการที่บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเลื่อนการเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่รองรับระบบ 5G ออกไป ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ 5G ต้องเลื่อนเวลาการออกสู่ตลาด และมีผลทำให้ราคาของสินค้าอาจจะต้องถูกปรับลง ทำให้มีการคาดการณ์ว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะปรับการวางแผนการเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่

 

ด้านผู้บริโภค : ชะลอซื้อสมาร์ทโฟน – คอมพิวเตอร์ แต่สนใจ “Wearable Device

ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ได้แทบจะกลายเป็นหนทางเดียวที่ผู้บริโภคทั่วโลกจะสามารถทำงาน ได้รับความรู้ และความบันเทิง ในเวลาที่ถูกกักตัวอยู่กับบ้าน ส่งผลให้เส้นกั้นระหว่างความเชื่อและความเคยชินในเรื่องของ “ความเป็นที่ทำงาน” และ “การอยู่บ้าน” ค่อย ๆ แคบลง

จากข้อมูลของ BBC พบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประเภทของใช้ส่วนตัว อย่างคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์โฟน เป็นสิ่งที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นจากการทำงานจากบ้าน

แต่ว่าในสถานการณ์แบบนี้ผู้บริโภคยังมีความลังเลในการซื้อ เนื่องจากความกลัวที่จะได้รับผลกระทบทางด้านการเงินทำให้ผู้บริโภคในประเทศต่าง ๆ (32% ในสหรัฐอเมริกา, 35% ในทวีปยุโรป และ 44% ในทวีปเอเชียแปซิฟิค) มีพฤติกรรมการวางแผนการใช้เงินที่รัดกุมมากขึ้น

ทั้งนี้พบว่านอกจากผู้บริโภคจะสามารถที่จะรอจนกว่าที่จะเจอโปรโมชั่นจากทางแบรนด์ที่ถูกใจแล้ว ผู้บริโภคยังหันมาให้ความสนใจกับสินค้าประเภท “Wearable Deviceมากขึ้น เพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่จะมีสุขภาพที่ดีผ่านการวัดค่าหรือจดจำข้อมูลเกี่ยวกับตนเองได้

Gadget

 

ด้านแบรนด์ : ปรับกลยุทธ์การสื่อสาร นำเสนอความสะดวก – เพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค

บริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านเทคโนโลยีต่างพากันยื่นมือนำความรู้ รวมถึงความสามารถทางด้านเทคโนโลยี (และสิ่งของ) เข้ามาช่วยเหลือบุคคลากรทางการแพทย์และหน่วยงานของรัฐ

โดยเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเหลือนั้นมีทั้งด้านการช่วยในการติดตาม ค้นหา หรือกระจายข่าวสารเกี่ยวกับไวรัส COVID-19 และเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถป้องกันตัวเองการติดเชื้ออีกด้วย

นอกจากนี้แบรนด์ยังสามารถปรับกลยุทธ์ในการโฆษณา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตต่างจากเดิม รวมไปถึงการนำเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อ

ตัวอย่างเช่น แบรนด์ผู้จำหน่ายอุปกรณ์เกมต่าง ๆ ที่พากันลงทุนเพิ่มในการสื่อสารเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ตัวเองเพื่อเพิ่มความสนใจและกระตุ้นความอยากซื้อ เพราะว่าในช่วงนี้ผู้บริโภคในหลาย ๆ ประเทศมีเวลาที่จะอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้แบรนด์สามารถนำเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกหรือกิจกรรมสันทนาการให้กับผู้บริโภคเพื่อใช้ในช่วงเวลาที่ยังไม่สามารถออกไปข้างนอกได้อย่างเต็มที่

Smart TV
Photo Credit : AhmadDanialZulhilmi / Shutterstock.com

 

“แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ” ช่องทางขายหลัก “เครื่องใช้ไฟฟ้า – สินค้า Gadget” ตลาดไทยเติบโต

สำหรับในบริบทของประเทศไทย คุณอธิราช หุตะสิงห์ ผู้อำนวยการแผนกนวัตกรรมและเทคโนโลยี เวฟเมคเกอร์ (ประเทศไทย) เผยว่าถึงคนไทยจะมีความกังวลในเรื่องการวางแผนค่าใช้จ่ายมากขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่ข้อมูลจากหน่วยงานด้านอีคอมเมิร์ซของเวฟเมคเกอร์ และกรุ๊ปเอ็มกลับพบว่า “อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยกลับมีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 150%”

แม้ว่ายอดขายสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยเป็นสินค้ายอดนิยม 3 อันดับแรกบนอีคอมเมิร์ซจะตกอันดับลงไป เนื่องจากความตื่นตัวของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาให้ความสนใจกับสินค้าประเภทสุขภาพและการป้องกันตัวจากการติดเชื้อไวรัส

แต่ข้อมูลของกรุ๊ปเอ็มที่ทำงานร่วมกับแพลทฟอร์มพาร์ทเนอร์อย่างใกล้ชิด ทำให้เรายังสามารถสรุปได้ว่ายอดขายบนอีคอมเมิร์ซสำหรับสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยยังคงมีการเติบโตขึ้น ซึ่งต่างจากบริบทในภาพรวมของโลก

คุณอธิราช ยังได้ขยายความถึงภาพรวมของอีคอมเมิร์ซในไทย และปัจจัยที่ทำให้ยอดขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโต เนื่องจาก

1. ในยุคที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ผู้บริโภคชาวไทยมีการเข้าถึงข้อมูลบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงจำนวนของผู้ที่สามารถเข้าถึงสื่อโฆษณาที่มากขึ้น

แต่ในทางกลับกันสังเกตได้ว่าจำนวนโฆษณากลับทำไม่เยอะขึ้นตามจำนวนคนดู จึงเป็นเหตุให้ต้นทุนในการลงโฆษณา (CPM) ลดลง และเป็นผลดีต่อแบรนด์ที่ต้องการเข้าหาผู้บริโภคในช่วงนี้

2. อีกหนึ่งเทรนด์สำคัญที่สามารถช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าหาผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นก็คือ การสร้างออนไลน์คอนเทนต์ผ่านสื่อบุคคล (Influencer) ที่แบรนด์เลือก

ปัจจุบัน Influencer เป็นทั้งสื่อ และคนที่สามารถสร้างความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคได้โดยตรง ยิ่งแบรนด์สามารถใช้ Influencer ในการสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์จากผู้บริโภคโดยปรับไปตามสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นได้ดีเท่าไหร่ก็ยิ่งจะทำให้คอนเทนต์นั้นถูกแชร์และกระจายออกไปได้ง่ายขึ้นและเป็นโอกาสในการสร้างความต้องการ (Demand) ในการซื้อสินค้าได้

Wavemaker_CONTRIBUTORS

คุณอธิราช ยังได้กล่าวเสริมว่าจากการทำงานในแคมเปญต่าง ๆ ให้กับลูกค้า เวฟเมคเกอร์ พบว่าทุกวันนี้มี Influencer รายใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งนับเป็นความท้าทายก้อนโตสำหรับทั้งแบรนด์และนักการตลาดว่าจะเลือกใช้อย่างไรให้เหมาะสม และเพื่อให้นักการตลาดสามารถเลือกได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรุ๊ปเอ็ม และบริษัทในเครือได้ทำการพัฒนาระบบการหา Influencer ผ่านกลุ่มพัฒนาประสิทธิภาพธุรกิจ Influencer หรือ INCA ที่มีการใช้เทคโนโลยี Little Crawler หรือโรบอทจิ๋วลงไปในคอนเทนต์ของ Influencer

ทำให้เวฟเมคเกอร์ รวมถึงเอเยนซี่อื่น ๆ ของกรุ๊ปเอ็ม เพิ่มความได้เปรียบทางด้านความสามารถในการทำ Influencer Marketing ที่มีความเหมาะสมในแต่ละแคมเปญของลูกค้าและช่วยเปลี่ยนผู้ติดตามของ Influencer แต่ละคนให้กลายมาเป็นผู้บริโภคของแบรนด์ผ่านเทคโนโลยีและข้อมูลที่วัดผลได้ภายใต้ลิขสิทธ์ของ กรุ๊ปเอ็ม

“สุดท้ายนี้ไม่ว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะหมดลงเมื่อใด สิ่งที่นักการตลาดจะต้องคำนึงถึงก็คือการเตรียมตัวที่จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภค ด้านรูปแบบการดำเนินธุรกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่แนะนำว่าทุกคนต้องเร่งปรับตัว ปรับทัศนะคติ รวมไปถึงการปรับแผนกลยุทธ์ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าและสร้างประสิทธิภาพ (และประสิทธิผล) ในการการทำธุรกิจให้มากที่สุด โดยทั้งนี้นักการตลาดจะต้องไม่ลืมเรื่องของการสนับสนุนการทำงานร่วมกับสังคมที่สามารถต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในอนาคตอีกด้วย”

 

 

Photo Credit หม้อทอดไฟฟ้าไร้น้ำมัน : www.robinson.co.th


  • 589
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE