ทำความรู้จัก “Hyper Local – Hyper Connected – Hyper Convenience” 3 เทรนด์ใหญ่ในโลกยุคสุดขั้ว!

  • 1K
  •  
  •  
  •  
  •  

Hyper Local-Hyper Connected-Hyper Convenience

  • ใครเลยจะคิดว่าเชนร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านระดับโลกอย่าง “IKEA” จะออกเมนู “ชานมไข่มุก” ที่แรกและที่เดียวสำหรับตลาดประเทศไทยโดยเฉพาะ !!

  • รู้หรือไม่ว่าจุดประกายไอเดียบริการต่างๆ บน “LINE MAN” ต่างๆ มาจาก Pain Point ของคนไทย

  • ไม่น่าเชื่อ ก็ต้องเชื่อ คนไทยเสพติดการเชื่อมต่อออนไลน์อันดับต้นๆ ของโลก! ด้วยสถิติ 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน

  • อยากกิน ต้องได้กิน – อยากช้อป ต้องได้ช้อป เมื่ออาการ “อยากได้ ต้องได้” คือ พฤติกรรมของคนยุคดิจิทัลไปแล้ว เพราะความสะดวกสบายแบบสุดๆ มาอยู่ตรงหน้า เพียงแค่คลิ๊กทำรายการบนสมาร์ทโฟนไม่กี่ขั้นตอน ก็ได้ในสิ่งที่ต้องการแล้ว

นี่เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ Landscape ธุรกิจ – การตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภค กำลังอยู่ในยุค “3 Hyper” ประกอบด้วย “Hyper Local” “Hyper Connected” และ “Hyper Convenience”

เพราะฉะนั้นใครไม่อยากตกยุค! ตามมาดูกันนิยามของทั้ง 3 Hyper พร้อมทั้งกรณีศึกษาของแบรนด์ใหญ่ ต่างขยับตัว พัฒนาสินค้า-บริการ รวมไปถึงกลยุทธ์การสื่อสาร ให้ตอบโจทย์เทรนด์ดังกล่าว

LINE-MAN

 

“Hyper Local” แบรนด์อยากมัดใจผู้บริโภค ต้องเข้าใจ “แก่น” ความเป็นท้องถิ่น

“Hyper Local” หรือ “Deeply Local Way” คือ แบรนด์ต้องเข้าใจใน “Local Insight” แบบสุดๆ (Extremely Local) ตั้งแต่วัฒนธรรม-ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่น ความเชื่อ หรือค่านิยมของท้องถิ่นนั้นๆ

เพราะฉะนั้น “Hyper Local” จึงไม่ใช่เป็นเพียงการนำกลยุทธ์ หรือแบรนด์แคมเปญระดับโลก มา “ประยุกต์” ใช้กับแต่ละ “ตลาดท้องถิ่น” เท่านั้น เช่น ในอดีตเราจะเห็นแบรนด์ระดับโลก นำงานโฆษณาที่เป็น Global Campaign มาปรับใช้กับตลาดแต่ละประเทศ แต่เราจะพบว่าคอนเทนต์ที่ถ่ายทอดออกมา กลับไม่สามารถ “เข้าถึง” หรือ “กินใจ” คนท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ได้

แต่แบรนด์ต้องเข้าใจ และเข้าถึง Insight ของคนในประเทศนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง

Hyper Local ไม่ได้หมายความว่าเฉพาะ Global Brand เท่านั้น แต่สำหรับแบรนด์ประเทศนั้นๆ ก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้เช่นกัน เพราะในแต่ละประเทศ ก็ยังมีความแตกต่าง และหลากหลายของคนท้องถิ่น ซึ่งแต่ละภาค แต่ละจังหวัด มีประเพณี-วัฒนธรรม วิถีชีวิต ค่านิยม ฯลฯ แตกต่างกัน

China Local Consumer
Photo Credit : testing / Shutterstock.com

McCANN World Group ทำสำรวจในหัวข้อ “The Truth About Global Brands 2: Powered by the Streets” (ความจริงเกี่ยวกับแบรนด์ดังระดับโลก) เก็บความคิดเห็นผู้บริโภค 29 ประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ

  • ในอดีตคนไทยให้ความสำคัญกับ “Global Brand” เป็นหลัก แต่ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญ และไว้วางใจ “Local Brand” มากขึ้น

  • “Local Brand” มีบทบาทกับคนไทยมากขึ้น ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากในประเทศไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม รายใหม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เฉพาะในปี 2017 – 2018 มี New SME รายใหม่ 238,713 ราย

  • 86% ของคนไทยนิยมซื้อสินค้าของแบรนด์ที่สนับสนุนและช่วยส่งเสริมประเทศของตนเอง

Hyper Local-McCANN 2019

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า “Global Brand” จะสำคัญน้อยลง หากแต่คนไทยพิจารณา “Local Brand” เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะตัดสินใจซื้อ

เพราะฉะนั้นสำหรับแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ระดับโลก หรือแบรนด์ของประเทศนั้นๆ ต้องเข้าใจ ตอบสนองต่อวัฒนธรรม และสร้างความหมายให้กับคนในประเทศนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง เช่น เข้าใจตัวตนของคนท้องถิ่น เข้าใจบริบทของสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศ หรือท้องถิ่นนั้นๆ

Hyper Local-McCANN 2019

“ปัจจุบันแบรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ หรือมัดใจผู้บริโภคได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าแบรนด์นั้นๆ เป็น Global Brand หรือ Local Brand แต่อยู่ที่ว่า แบรนด์นั้นเข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภคท้องถิ่น ความเป็นท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างไร และปรับตัวเองเข้าไปอยู่กับท้องถิ่น หรือสังคมนั้นๆ อย่างไร

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ระดับโลก หรือแบรนด์ท้องถิ่น ถ้าอยากเชื่อมต่อกับผู้บริโภคท้องถิ่น ต้องเข้าใจในระดับ Human Being และวัฒนธรรม-ประเพณี และสถานการณ์ทางสังคม

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ต่อไปเราจะเห็น Global Brand เป็นพาร์ทเนอร์กับ Local Brand มากขึ้น หรือแม้แต่ Global Brand สื่อสารโดยนำ Local Insight มาใช้ เช่น วัฒนธรรม, บริบททางสังคม เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น” ทีมผู้บริหารแมคแคน เวิลด์กรุ๊ป ประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติม

Hyper Local-McCANN 2019

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เรายกตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้กลยุทธ์ “Hyper Local” เช่น

“IKEA ประเทศไทย” ออกเมนู “ชานมไข่มุก” ในไทยที่แรกของโลก ตอบรับกระแส “ชานมไข่มุก ฟีเวอร์” ที่มาแรงข้ามปี

เครื่องดื่มชานมไข่มุกที่ IKEA ประเทศไทย ออกมาเพื่อวางขายในร้านอาหารของ IKEA ในไทยโดยเฉพาะ ไม่ได้เพื่อหวังยอดขายในส่วนร้านอาหาร IKEA เพราะถึงอย่างไร Core Business ยังคงเป็น “เชนร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน” แต่การมีบริหารอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเติมเต็มประสบการณ์การช้อปปิ้งให้มีความครบวงจรยิ่งขึ้น

ประกอบกับ การมาช้อปปิ้งของคนไทย ไม่ใช่มาเพียงซื้อสินค้าแล้วกลับเท่านั้น แต่ยังเป็นการมาเพื่อพักผ่อน มาเพื่ออัพเดทเทรนด์ มาเพื่อรับประทานอาหารอร่อย ยิ่งคนไทย “อาหารการกิน คือ ส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์”

ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การกินของคนไทย และประสบการณ์การช้อปปิ้งของคนไทยให้ครบวงจรยิ่งขึ้น จึง ใช้กลยุทธ์ Hyper Local ออก “เมนูฮิต” ที่คนไทยกำลังให้ความนิยมอย่าง “ชานมไข่มุก”

“ยูนิลีเวอร์” ที่ดำเนินธุรกิจใน 190 ประเทศทั่วโลก รูปแบบการทำงานของ FMCG ยักษ์ใหญ่รายนี้ นอกจากมีไบเบิ้ลการตลาดจากบริษัทแม่แล้ว ยังใช้กลยุทธ์ “Hyper Local” ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ใหญ่ สำหรับตลาดประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะ และหากประสบความสำเร็จ จะเป็น Learning Success ให้ประเทศอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้

สำหรับ “ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย” หลายโปรเจค และหลายผลิตภัณฑ์ ริเริ่มที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรก สำหรับตอบโจทย์ตลาดไทยโดยเฉพาะ

Hyper Local-Wall's Asian Delight

เช่น หนึ่งใน sub-brand ของไอศกรีมวอลล์ คือ “เอเชียน ดีไลท์” (Asian Delight) วางตำแหน่งเป็นไอศกรีมที่ใช้วัตถุดิบไทย มาพัฒนาเป็น 6 รสชาติ เริ่มจากไอศกรีมแท่ง ล่าสุดต่อยอดเป็นรูปแบบถ้วย เพื่อขยายฐานผู้บริโภค นอกจากทำตลาดกับคนไทยแล้ว ยังเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางมาไทย หรือไอศกรีมวอลล์ แซนวิช ออกรสชาไทย

หรือโลชั่นบำรุงผิววาสลีน ออกสูตรใหม่เป็นแบบเจล เนื่องจากพบว่า Local Consumer Insight ต้องการโลชั่นบำรุงผิวเนื้อบางเบา ไม่เหนียวเนอะหนะ ดังนั้นจึงคิดค้นรูปแบบ “เจล” ที่เมืองไทย และเปิดตัวทำตลาดในไทยที่แรก

“ทุกตลาดมี General Manager ทุกประเทศ เพราะแม้ยูนิลีเวอร์ เป็นองค์กรระดับโลก แต่เราตั้งเป้าทำงานอย่างใกล้ชิดกับตลาดแต่ละประเทศ ด้วยแนวคิด “Hyper Local” เป็นกลยุทธ์การทำตลาด โดยต้องเข้าใจบริบทแต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่น ทำให้ยูนิลีเวอร์แต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาค มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่น” มร.โรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย และมาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา อธิบายถึงการให้ความสำคัญกับ Hyper Local

Mr.Robert_Unilever-CEOs

“ไมเนอร์ ฟู้ด” ที่ได้สิทธิ์บริหารแบรนด์เชนร้านอาหาร-เครื่องดื่มระดับโลกในไทย ครอบคลุมถึงต่างประเทศหลายแบรนด์ ทำ “Hyper Local” เช่นกัน ที่จับต้องได้ชัดเจนคือ “เมนูอาหาร” เนื่องจากอาหารการกิน เป็นเรื่องของวัฒนธรรม และความชอบเฉพาะถิ่น

ดังนั้น นอกจาก Signature Menu ประจำแบรนด์ต่างๆ แล้ว “ไมเนอร์ ฟู้ด” ยังได้พัฒนา “Local Menu” ให้แต่ละแบรนด์ เพื่อตอบโจทย์ตลาดไทยโดยเฉพาะ

อย่างเชนร้านไอศกรีม “สเวนเซ่นส์” (Swensens) ที่นำวัตถุดิบในไทยอย่าง “มะม่วง” มาพัฒนาเป็น “ไอศกรีมรสมะม่วง” เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียว ถึงปัจจุบันกลายเป็น Signature Product ของสเวนเซ่นส์ ประเทศไทยไปแล้ว ที่ออกเฉพาะช่วงหน้าร้อน

ขณะเดียวกันยังได้จับกระแสขนมหวานสุดฮิตในไทย มาออกเมนูใหม่ เช่น “บิงซู” น้ำแข็งไสสไตล์เกาหลี หลังจากเห็นกระแส “บิงซู ฟีเวอร์” รวมไปถึงออกเมนู “ไอศกรีม โทสต์” อีกหนึ่งขนมหวานยอดนิยมของคนไทย

Hyper Local-Swensen's Bingsu
Photo Credit : Facebook We Love Swensen’s

 

“Hyper Connected” เพราะชีวิตขาดสมาร์ทโฟน – เน็ตไม่ได้ !!

ประเทศไทยมีประชากร 69.24 ล้านคน ในจำนวนนี้ 50% อาศัยอยู่ในเขตเมือง ตัวเลข Urban Population ดังกล่าว สะท้อนได้ว่าปัจจุบัน “ความเป็นเมือง” หรือ “Urbanization” ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ เหมือนอย่างในอดีตที่ทุกอย่างอยู่รวมกันที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ แต่ได้ขยายไปยังเมืองรอง และกระจายสู่พื้นที่ต่างๆ เปลี่ยนแปลงให้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ หรือจังหวัดนั้นๆ มีวิถีชีวิตแบบ “Urban Lifestyle”

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทย ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ใด สามารถอัพเดทเทรนด์ หรือข้อมูลข่าวสารได้เร็วไม่น้อยไปกว่าทั่วโลก คือ อัตราการเข้าถึง “อินเทอร์เน็ต”

ปัจจุบัน 82% ของประชากรไทย สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และมี 79% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยในจำนวนคนไทยที่เข้าถึงออนไลน์ มี 57 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ (Internet Active User)
ขณะที่พฤติกรรมคนไทย ต่อการใช้เวลาอยู่บนออนไลน์ โดยเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน

 

Hyper Connected-Internet-Penetration-Thailand

คนไทยใช้เวลาบนออนไลน์ไปกับ 3 กิจกรรมหลัก คือ

  • Social Media เฉลี่ย 3 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน

  • ดูคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มทีวี ครอบคลุมทัง broadcast, video streaming, video on demand) 3 ชั่วโมง 44 นาทีต่อวัน

  • ฟัง Music Streaming 1 ชั่วโมง 30 นาที

    Hyper Connected-Internet-Penetration-Thailand

ส่วนแพลตฟอร์ม Social Media ยอดนิยมในประเทศไทย 10 อันดับแรก ได้แก่ Facebook / YouTube / LINE / Facebook Messenger / Instagram / Twitter / Skype / LinkedIn / Pinterest / WeChat

จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนได้ว่าทุกวันนี้คนไทยจำนวนมาก มีพฤติกรรม “Hyper Connected” เชื่อมต่อกับออนไลน์ตลอดเวลา เกือบ 24 ชั่วโมง 7 วัน ไม่ว่าจะทำงาน เรียน ดูหนัง ฟังเพลง พูดคุยกับเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันแชท รวมไปถึงการอัพเดทสิ่งที่ตัวเองสนใจ หรือเรื่องราวของตัวเองบน Social Network

และพบว่าคนที่เชื่อมต่อออนไลน์ตลอดเวลา มีอาการที่เรียกว่า “FOMO” (Fear Of Missing Out) คือ กลัวที่ตัวเองจะตกกระแส กลัวที่ตัวเองจะไม่ทันข่าวร้อนมาแรงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ และอยากจะรู้ – อยากจะแชร์ก่อนใคร จึงทำให้เกาะติด Social Network ตลอดเวลา

Hyper Connected-Social-Media

IPG Mediabrands เผยว่าปัจจุบันมีคนไทย จำนวน 25.3 ล้านคน ที่มีพฤติกรรมเสพติดอินเทอร์เน็ตในระดับ “FOMO” โดยอยู่ในทุก Generation เพียงแต่คนแต่ละรุ่น มีพฤติกรรม FOMO ในระดับแตกต่างกัน

Gen Z และ Gen Millennials เสพติดอินเทอร์เน็ตมากที่สุด โดยพฤติกรรม FOMO ในกลุ่ม Gen Z อยู่ที่ 67% ของประชากรกลุ่มดังกล่าว และกลุ่ม Gen Millennials 57% ของประชากรกลุ่มดังกล่าว
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนกลุ่ม Gen Z และ Gen Millennials มีอาการ FOMO มากสุด เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้

เกิดและเติบโตมาในยุคดิจิทัล ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงสามารถ adopt เทคโนโลยีต่างๆ ได้เร็ว และใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับเทคโนโลยีตลอดเวลา

ขณะที่ Gen X มีพฤติกรรม FOMO 36% ของประชากรกลุ่มดังกล่าว ขณะที่คนกลุ่ม Baby Boomers มีอาการ FOMO 16% ของประชากรกลุ่มดังกล่าว

Hyper Connected-FOMO

จากการเสพติดอินเทอร์เน็ตของคนไทย จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมเวลานี้ทุกแบรนด์วิ่งสู่ถนนสายดิจิทัล เพราะแพลตฟอร์มดิจิทัล กลายเป็นหนึ่งใน Touch Point สำคัญที่การเข้าถึงผู้บริโภค

ที่สำคัญแพลตฟอร์มดิจิทัล สามารถเก็บ Big Data นำมาวิเคราะห์ และสื่อสารได้ในระดับ Personalize หรือ Tailor-made แมสเสจไปยังผู้บริโภครายบุคคลได้ ทำให้ทุกวันนี้ทุกองค์กรกำหนดให้ “ดิจิทัล” เป็น Agenda ของธุรกิจ

Hyper Connected-FOMO

 

“Hyper Convenience” เมื่อผู้บริโภคถูก Spoil ให้ทุกอย่างในชีวิตต้อง “สะดวกสุดๆ”

“Hyper Convenience” หรือ “ความสะดวกสุดๆ” กลายเป็นหนึ่งใน Norm ที่ทุกแบรนด์ต้องมีไปแล้ว และมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าด้านคุณภาพ

ยิ่งในปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรม “Hyper Connected” และทุกสิ่งทุกอย่างอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล – สมาร์ทโฟน ทำให้ผู้บริโภคเกิดพฤติกรรม “NOWISM” คือ ใจร้อน ทันทีทันใจ ยิ่งถ้าเมื่ออยากได้ แล้วได้ทันทีก็จะยิ่งดี และสิ่งนั้นต้องตอบโจทย์ความสะดวกสุดๆ กลายเป็นว่าผู้บริโภคยุคนี้ถูก Spoil จากแบรนด์สินค้า-บริการ

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ “Super App” หรือ “Everyday App” ที่บริษัทเทคโนโลยี พัฒนาบริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวัน และรวบรวมไว้ในแอปพลิเคชันเดียว หรือบางบริการเป็นแอปพลิเคชันแยก แต่สามารถลิงค์กับแอปฯ หลักได้

Hyper Conveniece -food-app

หนึ่งในบริการของ Super App คือ “On Demand Service” รูปแบบ O2O (Online to Offline) ที่ส่วนใหญ่พัฒนาบริการขึ้นมาจาก “Pain Point” ของคนในสังคม มีตั้งแต่บริการเรียกรถ บริการส่งพัสดุ บริการส่งอาหาร และมี e-Wallet เพื่อชำระค่าบริการได้ง่ายและสะดวกภายในแอปฯ เดียว ฯลฯ

เพราะเล็งเห็นช่องว่างว่าทุกวันนี้คนในสังคมเมืองมีวิถีชีวิตเร่งรีบ งานและกิจกรรมรัดตัวตลอดทั้งวัน ดังนั้นการมีบริการ On Demand เรียนใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน และมีพนักงานบริการให้ถึงที่ ตอบสนองความสะดวกสุดๆ

หัวใจสำคัญที่จะทำให้แพลตฟอร์มประเภท On Demand ที่ทำผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต แจ้งเกิดได้จริง ประการแรก คือ การเข้าไปเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค จากที่คุ้นชินกับการใช้บริการแบบ Offline มาตลอด เช่น เรียกรถแท็กซี่ ส่งพัสดุที่ต้องไปที่ทำการไปรษณีย์ หรือจุดรับส่งพัสดุตามโลเกชันต่างๆ หรือการรับประทานอาหารไปที่ร้าน ให้เปลี่ยนมาดำเนินการบน “Online”

Hyper Convenience-LINE MAN

ปัจจุบันในไทย ผู้เล่นหลักที่เป็นแพลตฟอร์ม “Super App” เช่น Grab, LINE, GET! หนึ่งในบริการ On Demand ที่กำลังเป็นดาวรุ่ง และแข่งขันกันรุนแรง คือ “Online Food Delivery”

เพราะเมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์แห่งอาหารการกิน แต่ด้วยชีวิตที่เร่งรีบ จึงไม่มีเวลาไปที่ร้าน และการไปรับประทานอาหารแต่ละร้าน โดยเฉพาะสตรีทฟู้ดชื่อดัง ต้องใช้เวลาเดินทาง ไหนจะรถติด ฝนตก หรือแดดร้อน รอคิว บางร้านไม่มีที่จอดรถ ทำให้ในการไปรับประทานอาหารกลายเป็นความลำบาก

จาก Pain Point ดังกล่าว ส่งผลให้ “Online Food Delivery” ค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้ออาหารในกลุ่มผู้บริโภคไทย

“LINE MAN” ใช้ความได้เปรียบของการมีฐานผู้ใช้งาน LINE กว่า 44 ล้านคน และบริการที่คนเรียกใช้มากที่สุด คือ บริการส่งอาหาร ซึ่งปัจจุบันบน LINE MAN มีกว่า 40,000 ร้านค้า มากกว่า 80% เป็นร้านสตรีทฟู้ด พร้อมทั้งจับมือกับ “วงใน” ซึ่งเป็นรีวิว ออนไลน์รายใหญ่ในไทย (อ่านเพิ่มเติม เบื้องหลัง “LINE MAN” โต 300% ผู้ใช้ 1.5 ล้านคน/เดือน)

Hyper Convenience-LINE-MAN

“Grab” ใช้ความได้เปรียบของการเป็น Tech Company รายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีเทคโนโลยี และองค์ความรู้ นำมาทำ Hyper Local แต่ละตลาดที่เข้าไปลงทุน หนึ่งในนั้นคือ ไทย

ล่าสุด Grab เผยตัวเลขความสำเร็จของ “Grab Food” ใน 4 เดือนแรกของปี 2562 มียอดสั่งอาหารกว่า 4 ล้านออเดอร์ มากกว่าปี 2561 ที่มียอดสั่งอาหารตลอดปี 3 ล้านออเดอร์ นอกจากนี้ยังได้จับมือ “Starbucks” ทำ Online Delivery (อ่านเพิ่มเติม Starbucks ผนึก Grab เปิดเดลิเวอรี่ออนไลน์) และเปิดตัวพันธมิตรใหม่ “STARVINGTIME เรื่องกินเรื่องใหญ่” เพจรีวิวอาหาร

Hyper Convenience-Grab x Starbucks

“GET!” แม้มาทีหลังคนอื่น แต่มีแบ็คดี คือ “GO JEK” สตาร์ทอัพรายใหญ่ของอินโดนีเซีย และอาเซียนให้การสนับสนุนด้านเงินลงทุน (อ่านเพิ่มเติม GET!” มาทีหลัง แต่ทำไมโตเร็ว! 2 เดือน ผู้ใช้ 2 ล้านครั้ง)

Hyper Convenience-GET

ทั้ง 3 เทรนด์ใหญ่ “Hyper Local – Hyper Connected – Hyper Convenience” เป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางธุรกิจ ได้เข้าใจว่าการจะ “ชนะใจ” ผู้บริโภค จำเป็นอย่างยิ่งที่แบรนด์นั้น ต้องเข้าใจ Consumer Local Insight อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่เพียงแค่ยกไบเบิ้ล หรือสูตรสำเร็จที่เคยทำมา มาแปะ หรือปรับใช้นิดๆ หน่อยๆ

ขณะเดียวกัน แบรนด์ควรเข้าไปอยู่ในทุกๆ Touch Point ที่ผู้บริโภคใช้ชีวิต และแน่นอนว่าในปัจจุบัน “แพลตฟอร์มดิจิทัล” คือ โลกใบใหญ่ของผู้บริโภคยุคนี้

รวมทั้งการจะเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อ – ใช้บริการ ต้องเป็นแบรนด์ที่มี “ความหมาย” ในชีวิตของผู้บริโภค หนึ่งในวิธีที่จะเป็น Meaningful Brand คือ เป็นแบรนด์ที่ช่วยแก้ Pain Point หรือแบรนด์ทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยคนสำคัญ” ของผู้บริโภค


  • 1K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE