เจาะลึกพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟน ของเหล่านักช้อปคนไทยในขณะช้อปปิ้ง

  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  

185659509-700

Marketbuzzz ผู้นำนวัตกรรมการสำรวจวิจัยทางการตลาดรูปแบบใหม่บนสมาร์ทโฟนที่สร้างจุดเชื่อมระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคบนฐานข้อมูลของบัซซี่บีส์ ในหัวข้อ “คุณทำอะไรกับมือถือในขณะที่ช้อปปิ้งอยู่ในร้านค้า?” โดยได้สำรวจกลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟนจำนวน 1,000 คนในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า 99% ยอมรับว่าใช้มือถือขณะที่กำลังช้อปปิ้งอยู่ในร้านค้า โดยสัดส่วน 7 ใน 10 ของกลุ่ม 99% ยังระบุว่าได้ใช้มือถือทั้งก่อนการช้อปปิ้งและในขณะที่ช้อปปิ้งอีกด้วย

จากสถิติข้างต้น Marketbuzzz ได้ทำการสำรวจเพื่อเจาะลึกถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สนใจหมวดสินค้าในแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน เพื่อวิเคราะห์ว่ามือถือมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคในแต่ละหมวดสินค้ามากน้อยเพียงใด โดยต้องการทราบถึงตัวเลขสถิติในกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้มือถือทั้งก่อนช้อปปิ้งและในขณะที่ช้อปปิ้งมีอัตราส่วนเท่าใด ซึ่งได้ผลสำรวจดังนี้

  • หมวดสินค้าบ้านและสวน มีผู้ใช้มือถือทั้งก่อนและในขณะที่อยู่ในร้านค้ามากที่สุดถึง 80%
  • หมวดเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งบ้าน 78%
  • หมวดสุขภาพและยาบำรุงรักษาโรค 77%
  • หมวดเครื่องประดับ และหมวดของใช้ส่วนตัวและสินค้าสำหรับเด็ก อยู่ที่ 76% เท่ากัน
  • หมวดท่องเที่ยวเดินทาง หมวดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า อยู่ที่ 75% เท่ากัน
  • หมวดสินค้ากีฬาและงานอดิเรก 74%
  • หมวดอาหารและเครื่องดื่ม 72%
  • หมวดคอมพิวเตอร์ 70%
  • หมวดหนังสือ ดนตรี แฟชั่นและเครื่องประดับ 69%

มร. แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Marketbuzzz บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด กล่าวว่า “จากอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันมาก แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นสินค้าหมวดหมู่ใด บรรดานักช้อปก็ใช้มือถือเป็นตัวช่วย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญและน่าจับตามองคือ บทบาทของมือถือในปัจจุบันกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทรงอิทธิพลมากจนทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งหมายรวมถึงเหล่านักช้อปเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน และสำหรับยุคดิจิตอลนี้ การเชื่อมโยงเข้าถึงข้อมูลถือเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส ซึ่งนับเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ของร้านค้าและแบรนด์สินค้าในการสร้างอิทธิพลที่มีต่อพฤติกรรมในการช้อปปิ้ง”

นอกจากนี้ Marketbuzzz ได้ทำการศึกษาต่อว่าแหล่งข้อมูลใดบนมือถือที่นักช้อปเหล่านี้ใช้ขณะที่อยู่ในร้านค้า โดยนักช้อปส่วนใหญ่ตอบว่าใช้โซเซียลมีเดียในขณะที่อยู่ในร้านค้า สูงถึง 61% ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ตามมาด้วยการใช้เครื่องมือสืบค้น (Search Engines) 35%, เว็บไซต์ของร้านค้า 29%, แอพพลิเคชั่นของร้านค้า 28% และปิดท้ายด้วยเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นร้านค้าอื่นๆ อีก 27% ซึ่งเป็นอีกแหล่งที่กำลังมาแรงในกลุ่มนักช้อปออนไลน์

Marketbuzzz Infograph - In-Store Mobile Behaviour

 

ในขณะช้อปปิ้ง นักช้อปใช้มือถือทำอะไร

ผลสำรวจในเชิงลึก ยังพบว่าในขณะที่ผู้บริโภคกำลังช้อปปิ้งและใช้มือถือในร้านค้าอยู่นั้น มีนักช้อปสูงถึง 77% ที่อ้างว่าพวกเขายังคงค้นหาสินค้าอื่นๆ ไปด้วย โดยที่ 56% ใช้มือถือเพื่อเปรียบเทียบราคาสินค้า และอีก 47% ส่งรูปภาพสินค้าที่คิดว่าจะซื้อให้เพื่อนดู ในขณะที่อีก 47% กำลังติดต่อร้านค้าหรือแบรนด์สินค้าผ่านทางโซเซียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งผลสำรวจแสดงให้เห็นว่านักช้อปพยายามใช้ประโยชน์จากมือถืออย่างเต็มที่ ในขณะที่ร้านค้าหรือแบรนด์สินค้า กลับมองข้ามความสำคัญในการใช้มือถือขณะที่อยู่ในร้านค้า และจากผลสำรวจพบว่ามีเพียง 19% ของนักช้อปที่ได้รับคำแนะนำจากร้านค้าในขณะที่ตนอยู่ในร้าน และ 15% ได้รับข้อเสนอที่เหมาะสมจากร้านค้าใกล้เคียงผ่านการตรวจสอบ GPS และนักช้อปอีก 15% เลือกชำระค่าสินค้าผ่านทางมือถือที่จุดแคชเชียร์

ถึงเวลาที่แบรนด์ต้องให้ความสำคัญกับการทำตลาดบนมือถือ

จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ร้านค้าและแบรนด์สินค้าควรตระหนักถึงโอกาสทางธุรกิจที่สามารถขยายตัวได้จากช่องทางตลาดบนมือถือ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับผลสำรวจที่ระบุว่า สองในสามของนักช้อปเลือกที่จะซื้อสินค้าที่ร้านค้า หากร้านค้าเหล่านั้นให้ข้อมูลที่มากขึ้น โดยข้อมูลที่สำคัญที่สุดที่บรรดานักช้อปต้องการจากร้านค้าคือ โปรโมชั่นหรือสินค้าราคาพิเศษอื่นๆ ที่มีอยู่ในร้านค้า, สินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันที่มีขายอยู่ในร้านค้า, ที่ตั้งของร้านค้าที่มีสินค้านั้นที่ใกล้ที่สุด และราคาของสินค้าในร้านค้าที่อยู่ใกล้เคียง

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากสำรวจครั้งนี้ คือ มือถือเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการซื้อสินค้า โดยเฉพาะการค้นหาในระหว่างการเดินทางไปซื้อสินค้าหรือแม้กระทั่งขณะอยู่ในร้านค้า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการเชื่อมต่อระหว่างร้านค้าและนักช้อปปิ้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม และนี่ถือเป็นโอกาสมหาศาลสำหรับแบรนด์สินค้าและร้านค้าที่จะใช้ประโยชน์จากมือถือตามที่นักช้อปต้องการ ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกด้านราคา ข้อมูลสินค้า คำแนะนำจากร้านค้า ข้อเสนอจากร้านค้า โปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ รวมถึงโปรแกรมที่สร้างความจงรักภักดี (loyalty programs) หรือแม้แต่ดีลที่เหมาะสมกับลูกค้าในแต่ละราย

ฉะนั้นร้านค้าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้า โดยให้ความสำคัญในการใช้มือถือในขณะที่อยู่ในร้านค้าเพื่อขยายโอกาสและเพิ่มประสบการณ์ทางธุรกิจจากการค้ารูปแบบดั้งเดิมสู่ร้านค้าที่มีกลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์บนมือถือ ป้ายในร้านค้า และอื่นๆ เพื่อยกระดับพฤติกรรมของนักช้อปทางมือถือในยุคดิจิตอล”


  • 2
  •  
  •  
  •  
  •