Grab ซุ่มทุ่มไม่อั้น! เปิดเสวนา GrabNEXT พร้อม ‘เป็นพระเอก’ ดันเศรษฐกิจไทยทันยุคดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคม

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา Grab ประเทศไทย ได้เปิดเวทีเสวนาวิชาการ GrabNEXT ยกระดับประเทศไทย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า นำโดย คุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร Grab ประเทศไทย และ คุณสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีและกล่าวปาฐกถาเปิดงาน พร้อมทั้งบรรดานักวิชาการอีก 3 ท่าน ได้แก่ คุณศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.: ETDA) คุณณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา (ThailandFuture) และ คุณกาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) 

 

ความน่าสนใจของงานอยู่ที่ การเล่นบท ‘พระเอก’ ของแกร็บในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศไทยทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยผุดหลักการ ‘5 อ.’ เพื่อให้ ‘ครอบคลุม’ การดูแลผู้คนใน ‘เศรษฐกิจแบบจ้างงานนอกระบบ (Gig Economy)’ ซึ่งก็คือเหล่าบรรดาไรเดอร์และไดร์เวอร์ อาทิ การให้โอกาสแรงงานวัยเกษียณ เพิ่มการศึกษาด้านทักษะอาชีพและภาษา มอบประกันชีวิต หรือ ให้ความรู้ด้านการเงินและการออม พร้อมทั้งสนองนโยบายภาครัฐด้าน ‘การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ’ รวมถึง การเพิ่ม ‘การมีส่วนร่วมเชิงดิจิทัล (Digital Inclusion)’ แก่ผู้คนในสังคม ทั้งหมดนี้เป็นการประสาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมีแกร็บเป็นศูนย์กลาง แน่นอนว่า เมื่อเป็นเช่นนีั บรรดานักวิชาการทั้ง 3 ท่าน ต่างเห็นคล้อยว่าแกร็บเป็นบริษัท ‘เพื่อสังคม’ เพราะมีทั้งการส่งเสริมและคุ้มครองควบคุมในคราวเดียวกันอย่างลงตัว มีการใช้ Tech เป็น ‘เครื่องมือ’ ในการช่วยเหลือประชาชน และมีโอกาสและศักยภาพมากพอในการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยนอกเหนือจากช่วงโควิดต่อไปในอนาคตได้

 

ขอเป็นพระเอกในหัวใจเธอ ด้วย หลักการ 5 อ. การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และ การมีส่วนร่วมเชิงดิจิทัล

 

อย่างที่กล่าวไปว่า แกร็บ ยึดหลักการ 5 อ. อย่างเคร่งครัดในการพัฒนาประเทศไทย ในฐานะบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ จากการเข้ามาลงทุนกว่า 8 ปี ทำให้พอจะทราบตื้นลึกหนาบางของ ‘ปัญหา’ ประเทศไทยไม่น้อย และเล็งเห็นว่า ไทยกำลังตามกระแสโลกอย่าง Gig Economy มากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ ‘ความมั่นคง’ ทางอาชีพถดถอยลงตามไปด้วย (แม้จะมีอิสระและรายได้ที่กำหนดได้เอง) หลักการดังกล่าวจึงเสมือนเป็น การ ‘รับประกัน’ ต่อแรงงานของแกร็บ ว่าหากเข้าร่วมกับเรา ท่านจะไม่มีวัน ‘เกม’ จาก Gig Economy ไม่มากก็น้อย

 

โดยคุณวรฉัตร ลักขณาโรจน์ ได้แจกแจงหลักการดังกล่าว ความว่า อ. แรกคือ อิสระ แกร็บเปิดให้ใครหน้าไหนก็ได้เข้ามาแสวงหากำไรจากบริษัท อ. ต่อมาคือ อยู่ร่วมกัน ไม่ว่าอายุเท่าไร หัวดำ หัวหงอก หรือกระทั่ง พิการ ก็ยังสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้ อ. ต่อไปคือ อบรม แกร็บเชื่อใน Lifelong Learning อย่างมาก การเพิ่มทักษะ ทั้งทางอาชีพ และภาษา จะช่วยให้ ‘ทุนทรัพยากรมนุษย์’ เบ่งบาน และจะส่งผลดีต่อบริษัทในอนาคต  อีก อ. หนึ่งคือ อุ่นใจ โดยแกร็บจะมอบประกันชีวิตให้กับไรเดอร์ เมื่อแรงงานไม่กังวล งานก็จะออกมาดีเช่นกัน และ อ. สุดท้ายคือ อดออม เพื่อช่วยให้แรงงาน Gig Economy เหล่านี้ มีแผนระยะยาวทางการเงิน ไม่ลำบากตอนแก่ หรือไม่เป็นภาระหนุ่มสาวที่ต้องจ่ายภาษีเลี้ยง

 

ยิ่งไปกว่านั้น แกร็บยังหมายมั่นปั้นมือที่จะทำให้เกิดการคุ้มครองแรงงานนอกระบบอย่างทั่วถึง มีความพยายามร่วมผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ (ยังเป็นร่างในขั้น กฤษฎีกา) อย่างมาก ถือเป็นการ ‘ประสานพลัง’ ภาครัฐและบริษัทเอกชนแบบ Gig Economy ขนาดใหญ่ ประการหนึ่ง โดยคุณสุชาติ ชมกลิ่น ก็ได้ออกมาเปิดอกยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ต้องเร่งรุดผลักดันอย่างเร่งด่วน เมื่อมีกฎหมายตัวนี้ ก็จะทำให้เกิด ‘กองทุนแรงงานนอกระบบ’ ขึ้น ทำให้บรรดาแรงงาน Gig Economy สามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่อง ‘การตรวจสอบเครติดบูโร’ และเมื่อมีเงินมากขึ้น การจับจ่ายใช้สอย ‘ในระบบ’ ก็จะมากขึ้น ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินรุดหน้ามากขึ้นเช่นกัน หรือแม้กระทั่งตอนนี้ ที่แกร็บได้นำร่อง ‘ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ตามเรทธนาคารแห่งประเทศไทย)’ แก่แรงงานนอกระบบไปก่อนหน้านั้น ยิ่งทำให้สามารถ ‘ถอดบทเรียน’ แก่การออกกฎหมายดังกล่าวได้ไม่น้อยทีเดียว

 

และอีกประการคือ การมีส่วนร่วมเชิงดิจิทัล โดยเน้นหนักไปที่ บรรดา ‘ร้านรวง’ ที่แกร็บอยากให้เข้าร่วม เป็นการโน้มน้าวให้ร้านรวงต่างๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง จากการ ‘หมายช่วย’ หากูรูมาช่วยแนะแนวการขายแบบ E-commerce เพิ่มยอดขาย รวมถึงเพิ่มลูกค้า เพิ่ม engagement ในโลกออนไลน์ เพื่อให้ร้านรวงดังกล่าวนั้นติดลมบน ขายดิบขายดียิ่งขึ้น เข้าทำนอง ‘ฝากร้านให้แกร็บดูแล’ รับรองไม่มีผิดหวัง

 

ทั้งหมดนี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นการประสาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมีแกร็บเป็นศูนย์กลาง เข้าทำนอง ‘พระเอกมาแล้ว!’ ย่อมได้

 

กระนั้น เมื่อพิจารณาข้างต้น สิ่งที่น่าชื่นชมและน่าสนใจคือ อ. อบรม เพราะส่วนมาก หากกล่าวถึง Lifelong Learning ในประเทศไทย มักจะนึกถึงการกระทำกับ ‘เยาวชน’ เป็นหลัก อาทิ การเก็บหน่วยกิตปริญญาตรีได้ในช่วงมัธยมปลาย หรือทดลองการเรียนไปทำงานไปด้วย แต่หาไม่เลยที่จะกระทำกับ ‘ผู้สูงอายุ’ ซึ่งแกร็บเป้นบริษัทแรกๆ ที่ริเริ่ม ณ จุดนี้ 

 

นักวิชาการเห็นคล้อย แกร็บ ไม่ใช้บริษัท Tech แต่เป็นบริษัท ‘เพื่อสังคม’

 

ในส่วนของการหารือเชิงวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน ต่างเห็นไปในทำนองเดียวกัน ที่ว่า การ take action ของแกร็บต่อประเทศไทยในครั้งนี้ ส่งผลให้ตัวแกร็บเอง เป็นยิ่งกว่า ‘บริษัท Tech’ ไปเรียบร้อย และจะต้องรับบทบาทที่ยิ่งใหญ่อันมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีกขั้น โดยการเป็น บริษัท ‘เพื่อสังคม’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

คุณศักดิ์ เสกขุนทด ได้ให้เหตุผลสนับสนุนว่า แกร็บมีทั้งการส่งเสริมและคุ้มครองควบคุมในคราวเดียวกันอย่างลงตัว ดังที่เห็นว่า แกร็บมี ‘ความรับผิดชอบต่อสังคม’เสมอ แม้จะเปิดให้ใครหน้าไหนก็ได้เข้ามาฉวยใช้โอกาสทำมาหากิน แต่ก็ไม่ใช่การ ‘ปล่อยให้ทำอะไรก็ได้ (Arbitrary)’ แกร็บปิดจุดนี้โดยการ ‘จัดตั้ง’ แรงงานของตนให้เป็น ‘แรงงานคุณภาพ (Skilled-labour)’ ให้ความรู้ ให้การศึกษา ให้รู้เท่าทันโลกดิจิทัล ทั้งที่จะไม่ทำก็ได้ แต่หากปล่อยให้ทำไป มิเช่นนั้น แกร็บก็จะกลายเป็นเครื่องมือทาง ‘อาชญากรรมไซเบอร์’ ต่างๆ ซึ่งจะกระทบกับสังคมมหาศาลกว่านี้ก็เป็นได้ 

 

รวมถึงในเชิงข้อมูล Grab ได้เปิดเผยต่อรัฐมาโดยตลอด ทั้งที่จะไม่เปิดเผยก็ได้ อาทิ ข้อมูลคนไทยกดสั่งอาหารประเภทใดมากที่สุด หรือ คนไทยบริโภคอาหารหวานจำนวนเท่าไร ซึ่งเป็นข้อมูลที่จำเป็นอย่างมากต่อการวิเคราะห์ เพื่อออกนโยบายภาครัฐ ให้คิดตามว่า หากคนไทยสั่งส้มตำปูปลาร้าจำนวนมาก แสดงว่ารัฐความสนับสนุนธุรกิจน้ำปลาร้าพอสมควร อาจ Subsidise หรือ กำหนดเพดานราคา เพื่อช่วยเหลือด้านราคาและต้นทุนการผลิต หรือหากคนไทยนิยมทานของหวาน อาจเสี่ยงต่อภาวะติดน้ำตาล รัฐอาจควบคุมโดยการตั้งกำแพงภาษี หรือขึ้นภาษีต่อหน่วยของน้ำตาล เพื่อสุขภาพของประชาชน เป็นต้น 

 

คุณณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ แสดงทรรศนะว่า แกร็บมีการใช้ Tech เป็น ‘เครื่องมือ (Toolkit)’ ในการช่วยเหลือประชาชน ‘ทางตรง’ มาโดยตลอด ซึ่งการกระทำดังกล่าว เสมือนการเป็น ‘ผู้บุกเบิก’ แก่สังคมไทยไม่น้อย ให้คิดตามว่า ในอดีตไม่นานนี้ การส่งอาหารแบบ Delivery ยังเป็นเรื่องของแต่ละบริษัทอาหาร (ตามเบอร์โทรเลข 4 หลัก) และยังต้อง order ผ่านเครือข่าย ‘ในระบบ’ (โทรศัพท์) อยู่ แต่ผ่านไปไม่นาน วงการอาหารทั้งเล็กทั้งใหญ่แทบจะต้องเข้าร่วม และทุกครัวเรือนต้องมี แอพแกร็บ ไว้กด order อาหาร สร้างความสะดวกสบาย รวมถึงสร้างอาชีพอีกด้วย บางครัวเรือนอาจเป็นทั้งแรงงานและผู้บริโภคกับแกร็บเลยทีเดียว หรืออาจจะเรียกได้ว่า ประชาชน ‘เปลี่ยนพฤติกรรม (Shift)’ ได้ก็เพราะแกร็บ นั่นเอง

 

คุณกาญจนา วานิชกร แสดงความมั่นใจว่า แกร็บมีโอกาสและศักยภาพมากพอในการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยนอกเหนือจากช่วงโควิดต่อไปในอนาคตได้ เพราะแกร็บนั้นจัดอยู่ใน ‘ภาคบริการ (Services)’ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยในโลกหลังโควิด (โปรดดู ภารตะมาโปรด!) ให้คิดตามว่า เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา หากอยากเดินทางไปที่ใด ก็สามารถกดแกร็บแท็กซี่ แกร็บไบค์ เพื่อไปยังจุดหมายได้ ไม่ต้องรอให้เสียเวลา และปลอยภัยจากการโดนโก่งราคาได้ ถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพได้อีกทางหนึ่ง 

 

น้ำผึ้งเป็นยาพิษ Tech เป็นมีดสองคม: ข้อสังเกตการประยุกต์ใช้ Tech ของแกร็บ

 

อย่างไรเสีย แม้จะเห็นถึง ‘แสงสว่าง’ ดังกล่าวจากแกร็บ แต่ทุกสิ่งย่อมมี ‘สองด้าน’ เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ Tech หรือ Digital ที่ยังเป็น ‘ปริมณฑลใหม่’ เรายังรู้น้อยและตามให้ทันได้ยากยิ่ง ก็ยิ่งต้อง ‘ตั้งข้อสังเกต’ ให้มากตามไปด้วยเช่นกัน

 

โดยสิ่งที่น่าขบคิดที่สุด นั้นมาจากข้อคิดเห็นของ คุณศักดิ์ เสกขุนทด ที่ว่า มีทั้งการส่งเสริมและคุ้มครองควบคุมในคราวเดียวกันอย่างลงตัว คำถามที่ตามมาคือ ‘เส้นแบ่ง’ ระหว่าง การส่งเสริมและการคุ้มครองควบคุม ‘ให้ลงตัว’ อยู่ตรงไหน? คำถามนี้ แม้แต่ระดับรัฐหรือการระหว่างประเทศก็ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ ให้คิดตามว่า หากเน้นการคุ้มครองควบคุม หรือที่เรียกว่า Regulation สิ่งที่ตามมาคือ การลดทอน ‘การพัฒนา’ Tech ลง ดังที่เห็นจาก การออก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ Single Gateway หรือกระทั่ง การเก็บภาษีคริปโต กลับกัน หากเน้นการส่งเสริม หรือปล่อยให้ทำไป สิ่งที่ตามมาคือ การคุมไม่ได้ ดังที่เห็นได้จาก อาชญากรรมไซเบอร์ การหลอกลวงในโลกออนไลน์ หรือการฉ้อโกงรูปแบบต่างๆ ตามมา

 

ซึ่งตรงนี้ ด้วยการเป้นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ อยู่ในภาคส่วน Gig Economy และมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของประชาชนไทยอย่างมาก ก้ยิ่งน่าคิดว่า ‘เส้นแบ่ง’ ดังกล่าวนั้น จะไปอยู่ที่ตรงไหน จึงจะลงตัวกันแน่?

 

ที่มา:

  • Grab Press Release (6/7/2022)

 


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
Hayden Wiesz
A rookie of Tech columnist with disciplined from Faculty of Political Science, Thammasat University. Writing related with Metaverse, Cryptocurrency, Digital Asset, Financial Technology, Fiscal/ Monetary Policy, Macroeconomics and any Current Affairs. Fully passionate with Political Theory, Political (Ontological) Turn, Agonistic Democracy, Post-marxism, and Korean Studies.