เปิดร้านขายของออนไลน์ (ตอนที่ 1)

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

มีกิจการส่วนตัว ถือเป็นความฝันของใครหลายๆ คน ซึ่งสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง เพื่อหาทำเลเปิดหน้าร้านให้ยุ่งยากอีกต่อไปแล้ว เพราะระบบอินเทอร์เน็ตสามารถเนรมิตให้คุณมีร้านขายของส่วนตัวขึ้นมาได้ในพริบตา โดยที่แทบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย

การจะเปิดร้านค้าออนไลน์ของตัวเองนั้นมีหลักการคิดง่ายๆ ไม่แตกต่างไปจากการเปิดหน้าร้านปกติมากนัก โดยก่อนอื่นก็จะต้องคิดว่าจะขายอะไร ขายให้ใคร ขายที่ไหน และขายอย่างไร

ขายอะไร คนส่วนใหญ่มักจะลืมคิดถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก แต่มักจะไปคิดถึงระบบหรือวิธีที่จะใช้ขายของกันก่อน ซึ่งนั่นทำให้ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะวิธีการขายที่คิดไว้อาจจะไม่เหมาะกับสินค้าที่จะขายนั่นเอง ดังนั้นคุณควรคิดก่อนว่าจะขายอะไร โดยสินค้าหรือบริการที่จะขาย ต้องเป็นสิ่งที่คุณพอจะมีความถนัด ความเข้าใจในตัวสินค้าอยู่บ้าง สินค้ามีความโดดเด่น ไม่เหมือนกับรายอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาด หรือไม่ก็ต้องเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด หรืออาจจะเป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่แล้ว ซึ่งการเลือกสินค้าถือเป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการเริ่มต้นขายของ

ขายให้ใคร หลังจากตัดสินใจได้แล้วว่าจะขายสินค้าหรือบริการอะไร ก็ต้องมาคิดต่อว่ากลุ่มเป้าหมายของสินค้าเหล่านี้เป็นใคร เป็นคนกลุ่มไหน อายุประมาณเท่าไร หญิงหรือชาย จะขายคนในประเทศหรือต่างประเทศ ตลาดไหนที่จะเป็นตลาดหลักของสินค้าที่จะขาย สิ่งเหล่านี้ต้องวางแผนเอาไว้เพื่อจะได้เลือกทำเลที่จะใช้ขายของต่อไป

ขายที่ไหน เมื่อตัดสินใจเลือกสินค้าที่จะขายและกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว ก็ต้องมาเลือกทำเลขายของ หรือที่เปิดหน้าร้านที่จะเหมาะกับสินค้าและกลุ่มเป้าหมายด้วย เพราะการขายของไม่ได้มีแต่วิธีทำเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายๆ แห่งที่สามารถนำสินค้าไปวางขายได้ เช่น ขายของผ่าน Social Network, e-Marketplace, Blog, Amazon เป็นต้น

ขายอย่างไร ในส่วนนี้ก็ต้องมาเลือกรูปแบบการขายสินค้าของตัวเองแล้วว่าจะทำเองขายเอง ฝากขาย หรือว่าจะรับมาขาย แล้วกินค่านายหน้าก็แล้วแต่ความถนัด ถ้ามีสินค้าเอง ผลิตขึ้นมาเองก็อาจจะทำเองขายเอง หรืออาจจะฝากขายด้วยก็ได้ โดยเราสามารถสร้างช่องทางการขายขึ้นมาได้ตามความต้องการ แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีสินค้าของตัวเองจะเลือกการเป็นนายหน้ารับสินค้ามาขายแล้วกินเปอร์เซ็นต์ค่านายหน้าก็ได้ ซึ่งสมัยนี้ก็นิยมใช้วิธีการนี้กันมาก เพราะเป็นเหมือนการจับเสือมือเปล่า

เรียนรู้ช่องทางการขาย

ช่องทางการขายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะทำให้การขายของประสบความสำเร็จ  โดยการเลือกช่องทางก็ต้องให้เหมาะกับสินค้า ความถนัดของผู้ขายที่มีอยู่เดิม และในขณะเดียวกันก็ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมช่องทางการขายให้กว้างขึ้น รวมทั้งพัฒนากลยุทธ์วิธีการขายของตัวเองให้พัฒนาเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้มียอดการขายที่เพิ่มสูงขึ้น ทีนี้มาศึกษาว่าช่องทางไหนที่ตัวเองถนัดที่สุด

ขายผ่าน Social Network การใช้ Social Network เป็นช่องทางที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับการเริ่มขายของ  โดยผู้ที่เพิ่งจะเริ่มต้นขายอาจจะทดลองตลาดดูก่อน โดยใช้ช่องทางที่เปิดให้บริการฟรีเพื่อนำสินค้าไปเสนอขายได้ โดยลงแค่แรง ไอเดีย และอาจจะต้องลงทุนบ้างเล็กน้อย เช่น การสร้าง Blog ขึ้นมา การเข้าไปเป็นสมาชิกใน Social Network ที่เปิดโอกาสให้ขายของได้ด้วย เช่นที่ bloggang.com, Facebook.com, Blogger.com เป็นต้น โดยใน Social Network เหล่านี้จะมีการจัดพื้นที่ให้ขายสินค้าโดยเฉพาะ หรือจะสร้างบล็อกของตัวเองให้เป็นร้านขายของเลยก็ได้

ขายผ่าน e-Marketplace สำหรับผู้ที่ต้องการจะเปิดเว็บไซต์ หรือเปิดหน้าร้านกับ e-Marketplace ทั้งหลาย ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยปัจจุบันมีตลาดหลายแห่งที่เปิดให้บริการอยู่ เช่น Tarad.com, Shopping.co.th, Weloveshopping.com เป็นต้น ซึ่งการขายสินค้าผ่าน e-Marketplace นั้นจะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกก่อน ส่วนการเลือกใช้บริการเว็บไซต์ร้านค้าสำเร็จรูปก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยประหยัดเวลาการสร้างหน้าร้านได้เช่นกัน

ขายผ่าน Amazon.com สำหรับช่องทางนี้จะเหมาะกับผู้ที่ไม่มีสินค้าเป็นของตัวเอง แต่รับเอาสินค้าของที่อื่นมาขายแล้วกินค่านายหน้า โดยอัตราค่านายหน้าที่ได้จะอยู่ที่ 4-20% ของราคาขาย ขึ้นอยู่กับหมวดสินค้า ซึ่งผู้ที่จะขายผ่านช่องทางนี้จะต้องมีเว็บไซต์หรือบล็อกเป็นของตัวเอง แล้วนำเว็บไซต์ที่จะขายของนี้ไปสมัครกับทาง Amazon.com (จะคล้ายๆ กับการสมัคร Google AdSense) จากนั้นก็กรอกข้อมูลตามขั้นตอนต่างๆ เสร็จแล้วก็รอการตรวจสอบจากทาง Amazon ถ้าผ่านแล้วจะได้รับ Account ที่จะแจ้งมาให้ทางอีเมล

หลังจากได้รับ Account แล้วก็สามารถนำสินค้าของ Amazon มาขายได้ โดยการซื้อ-ขายผ่าน Amazon หลักๆ แล้วจะมี 3 รูปแบบด้วยกัน คือการสร้าง Links/Widgets โดยเราจะสามารถนำ Banner, Text Link, Widget มาแปะที่ไหนก็ได้บนเว็บไซต์เพื่อขายสินค้า ถ้ามีคนคลิกก็จะได้รับค่านายหน้าไป

อีกรูปแบบหนึ่งจะสร้างร้านค้าขึ้นมาเองจาก Amazon ซึ่งวิธีการนี้จะเรียกว่า aStore โดยรูปแบบนี้เป็นระบบของ Amazon ที่ให้สมาชิกสามารถสร้างร้านค้าของตัวเองได้ฟรี สามารถเลือกสินค้าที่นำมาวางในร้านของตัวเองได้ตามใจชอบ โดยสินค้าที่เลือกจะมาจาก Amazon เช่นกัน แต่คุณสามารถเลือกสินค้าหรือหมวดสินค้าที่ต้องการขายได้เอง เช่น ขายรถตัดหญ้า ขายเครื่องเล่น MP3 ขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขายของแต่งสวน เป็นต้น ถ้ามีคนคลิกซื้อสินค้าก็จะได้รับค่านายหน้าไป

และแบบสุดท้ายคือการเลือกสินค้าจาก Amazon มาจัดการวางหน้าร้านขายของเอง แล้วจัดการส่งลิงก์ที่มี ID ของตัวเองไปที่ Amazon เมื่อมีการคลิกซื้อสินค้าเกิดขึ้นก็จะได้รับค่านายหน้าไปเช่นกัน

ลงมือปฏิบัติ

เมื่อเลือกสินค้า เลือกรูปแบบการขายที่ถนัด ทำการจัดวางโครงสร้างหน้าร้านให้กับร้านขายของตัวเองได้แล้ว ซึ่งนั่นหมายถึงการออกแบบหน้าร้านตัวเองว่าจะให้มีข้อมูลประเภทไหนบ้าง จะเอาสินค้าวางไว้ตรงไหน จะเอาโฆษณาวางไว้ตรงจุดไหน เมื่อสรุปได้แล้วก็อย่ามัวรีรอที่จะลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เพราะขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ร้านค้าที่สวยถูกใจ และอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน้าร้านอีกหลายรอบ อีกทั้งกว่าจะทำรายได้ให้นั้นก็ต้องใช้เวลาอีกเช่นกัน ไม่ได้รวดเร็วอย่างใจนึก

นอกจากนี้สำหรับผู้ที่สมัคร Google AdSense เอาไว้อยู่ก่อนแล้วจะสมัครขายของกับทาง Amazon.com เพิ่มขึ้นก็ได้ โดยหลังจากสมัครผ่านแล้วสามารถนำ ID โฆษณาจากทั้งสองแห่งมาติดไว้บนเว็บไซต์หรือบล็อกของตัวเองได้พร้อมกัน ซึ่งก็เป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้ตัวเองได้มากขึ้น

อย่าลืมโปรโมต

เมื่อสร้างหน้าร้านขายของสำเร็จแล้วก็ต้องป่าวประกาศให้ผู้คนได้รับรู้ จะได้มีคนเข้าไปที่หน้าร้านตัวเองให้มากๆ เพราะการสร้างร้านโดยที่ไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์ตัวเองให้ผู้คนได้รับรู้ก็ไม่ต่างกับการสร้างตู้โชว์สินค้าเอาไว้ดูเล่นอยู่คนเดียว

ส่วนวิธีการโปรโมตร้านค้าตัวเองนั้น ทำเลที่คุณไปตั้งหน้าร้านบางแห่งก็มีเครื่องมือที่ช่วยโปรโมตสินค้าให้คุณ เพียงแต่ว่าจะต้องขยันอัพเดตสินค้าบ่อยๆ ซึ่งการจะไปตั้งหน้าร้านที่ไหน หรือเลือกรูปแบบการขายแบบไหนก็ต้องศึกษาวัฒนธรรม รวมถึงเครื่องมือของแต่ละแห่งที่มีให้ใช้เพื่อเอื้ออำนวยให้กับผู้ขายด้วย ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้คุณโปรโมตร้านค้าของตัวเองได้ในเบื้องต้น แต่ถ้าต้องการให้ร้านตัวเองดังเพิ่มขึ้นก็ต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ ผสมเข้าไปด้วย เช่น การใช้ SEO การแลกลิงก์ การเข้าไปรายงานตัวในไดเรกทอรีต่างๆ การใช้คีย์เวิร์ด เป็นต้น

สมัยนี้ใครคิดจะทำเว็บไซต์สามารถทำได้ง่ายๆ แต่จะทำให้ติดอันดับต้นๆ ใน Google หรือจะเรียกคนเข้าไปที่ร้านได้นั้นทำได้ยากยิ่งกว่าการให้คนเข้ามาที่ร้านแล้วตัดสินใจซื้อสินค้าของคุณซะอีก

Source: Ecommerce Magazine


  •  
  •  
  •  
  •  
  •