จับตา “Virtual Experience” จะเป็น New Normal การใช้ชีวิตทั้ง “เรียน – ทำงาน – ความบันเทิง – ท่องเที่ยว”

  • 352
  •  
  •  
  •  
  •  

Virtual-Experience
Photo Credit : YouTube Google Arts & Culture

ประสบการณ์ในโลกเสมือนจริง หรือ “Virtual Experience” ผ่านเทคโนโลยี เช่น Live Streaming, Virtual Reality (VR) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกิดมาได้สักพักหนึ่งแล้ว แต่ใช้ไม่กี่กิจกรรม และไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา

ทว่าการเกิดขึ้นของ COVID-19 ทำให้หลายประเทศต้องใช้นโยบายตั้งแต่ “Social Distancing” คือ การเว้นระยะห่าง 1 – 2 เมตร พร้อมทั้งให้ประชาชนอยู่ในบ้าน ไปจนถึงมาตรการขั้นสูงสุดคือ “Lockdown” หรือปิดเมือง – ปิดประเทศ เพื่อลด และจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัส 

ส่งผลให้คนใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยีในด้านต่างๆ มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ การทำกิจกรรมชีวิตประจำวันต่างๆ ผ่าน โลกเสมือนจริง นับตั้งแต่การเรียน การทำงาน การเปิดรับความบันเทิง ไปจนถึงการท่องเที่ยว การชมงานศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งน่าจับตามองว่าต่อไป Virtual Experience เหล่านี้ มีแนวโน้มแพร่หลายขึ้น และจะกลายเป็น “New Normal” ในการใช้ชีวิตของคนไปในที่สุด ไม่ว่าจะชีวิตการเรียน ชีวิตการทำงาน ไปจนถึงชีวิตส่วนตัวในยามพักผ่อน 

 

เทคโนโลยีเชื่อมโยง “Remote Learning & Working” ให้เป็นเรื่องง่าย! 

ล่วงเข้าสู่เดือนที่ 5 แล้วสำหรับสถานการณ์ COVID-19 ที่เร่ิมต้นจากอู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วโลก สร้างความเสียหายกับทุกภาคส่วน และถึงวันนี้กระทบกับภาคการศึกษาทั่วโลก โดยรัฐบาลของหลายประเทศได้ปิดสถาบันการศึกษาในทุกระดับชั้นชั่วคราว

ข้อมูลจาก UNESCO ฉายภาพว่าไวรัส Corona 2019 หรือ COVID-19 ทำให้ 188 ประเทศได้ปิดสถาบันการศึกษาทุกระดับชั้นชั่วคราว สร้างผลกระทบกับผู้เรียนทั่วโลกกว่า 1,500 ล้านคน หรือคิดเป็น 93% ของจำนวนผู้เรียนทุกระดับชั้นทั่วโลก 

Solutions ที่เป็นทางออกในห้วงเวลานี้คือ “e-Learning” ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบบันทึกไว้ก่อนหน้านี้ และแบบ “Virtual Learning” เป็นการเรียนการสอนสด ผ่านเทคโนโลยี Live Streaming

อย่างล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศสิงคโปร์ออกประกาศให้โรงเรียน และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็น “full home-based learning” เร่ิมตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน ถึงวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ 

เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว สิงคโปร์ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัลสำหรับนักเรียนโดยเฉพาะ เพื่อทรานส์ฟอร์มระบบการเรียนการสอนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แพลตฟอร์มนี้เรียกว่า “Singapore Student Learning Space” (SLS) เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีการเรียนเท่านั้น แต่คือ เครื่องมือ empower ให้กับนักเรียนได้เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และสามารถศึกษาบทเรียนย้อนหลัง และศึกษาเพิ่มเติมได้เองที่บ้าน ในเวลาที่ผู้เรียนสะดวก โดยที่ผู้เรียนสามารถ discuss ระหว่างครุผู้สอน และเพื่อนนักเรียนร่วมกัน

ดังนั้นจากการปิดโรงเรียนครั้งนี้ นักเรียนในสิงคโปร์จะเรียนผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล “Singapore Student Learning Space” (SLS) ทำให้นักเรียนสามารถมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนได้เหมือนเช่นการเรียนในห้องเรียน 

เช่นเดียวกับใน สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศปิดโรงเรียน และมหาวิทยาลัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปก่อนหน้านี้ ซึ่งสถาบันการศึกษาต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้ให้ผู้เรียนผู้สอนใช้ระบบการเรียนการสอนผ่าน e-Learning เช่น มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น Harvard, Princeton, Stanford ใช้การเรียนการสอนเสมือนจริง หรือ Virtual Education เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้จากทางไกล

Learn From Home

จากการเรียน ข้ามมายัง การทำงานองค์กร และหน่วยงานต่างๆ ทั้งเอกชน และภาครัฐ ใช้นโยบาย “Work From Home” ด้วยการทำงานผ่านเทคโนโลยีเกี่ยวกับการประชุม และการทำงานผ่านทางไกล 

อันที่จริงแล้วก่อนที่จะเกิด COVID-19 แนวโน้มของเทรนด์ “Remote Working” หรือการทำงานจากทางไกล มีมาได้ระยะหนึ่งแล้วในยุคดิจิทัล โดยเป็นรูปแบบการทำงานที่แพร่หลายกันอย่างมากในองค์กรรุ่นใหม่ หรือในวงการสตาร์ทอัพ ที่พนักงานกลุ่มใหญ่อยู่ในกลุ่ม “Gen Y” และ “Gen Z” 

สไตล์การทำงานของคนกลุ่มนี้ จะทำงานผ่านเทคโนโลยีเป็นหลัก และไม่ได้อยู่ประจำออฟฟิศตลอด หรือสตาร์ทอัพบางราย ก็ไม่ได้มีออฟฟิศเป็นกิจจะลักษณะ แต่ใช้วิธีการประชุม หรือคุยกันได้แบบเสมือนจริง ผ่านเครื่องมือ และแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหลาย

ผลวิจัยจาก Gartner ชี้ว่า

  • ภายในปี 2573 ความต้องการทำงานจากที่บ้านจะเพิ่มขึ้น 30% เนื่องจากกลุ่มคน Gen Z กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างเต็มตัว

  • 64% ของคนทำงานในปัจจุบันกล่าวว่าพวกเขาสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ (โดย 71% ขององค์กรทั่วโลกมีนโยบายการทำงานจากที่บ้านเป็นเรื่องปกติ)

แต่การเกิดขึ้นของ COVID-19 เป็นตัวเร่งให้การทำงานแบบ Remote Working ซึ่งหนึ่งใน subset นี้คือ “Work From Home” ท่ีได้สร้างพฤติกรรมการทำงานผ่านดิจิทัลเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม Work From Home ขององค์กรหนึ่งๆ จะสำเร็จหรือไม่นั้น “Gartner” ระบุว่าต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ 

1. สื่อสารอย่างเปิดเผย และสม่ำเสมอ  

การแจ้งให้พนักงานทราบ ซึ่ง วิธีการ และ เนื้อหา ที่ใช้สื่อสารมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่คนทำงานจากที่บ้านอาจได้รับข้อมูลจากช่องทางการสื่อสารขององค์กรน้อยกว่าคนที่มาทำงานกับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ดังนั้นสื่อสารข้อมูลอย่างเปิดเผย สม่ำเสมอ ตรงไปตรงมา และโต้ตอบระหว่างกัน จะทำให้ทั้งองค์กร และผู้ที่ทำงานจากที่บ้าน หรือแม้จะอยู่ทางไกลเพียงใดก็ตามประสบความสำเร็จ

2. ประสิทธิผลการทำงานมาจากความเชื่อใจพนักงาน 

Insights ของฝั่งนายจ้าง หรือหัวหน้างาน หัวหน้างานมักกังวลใจเมื่อไม่เห็น Workflow การทำงานและรายงานประจำวันของลูกทีมที่ต้องทำงานจากที่บ้าน

76% ของการร้องเรียนอันดับต้นๆ จากพนักงานถึงฝ่ายบุคคล จะเป็นข้อวิตกเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและประสิทธิภาพการทำงานของสมาชิกในทีมเมื่อต้องทำงานจากที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแนวคิดการทำงานจากที่บ้านนั้นจะเป็นเรื่องปกติ หรือเรื่องเร่งด่วน “ความไว้วางใจ” ในพนักงาน คือ ปัจจัยพื้นฐานแห่งความสำเร็จ 

ดังนั้น สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือการแนะนำหัวหน้างานทั้งหลายให้มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์งานเมื่อต้องมีการทบทวนประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงาน 

นอกจากนั้นควรกำหนดความคาดหวังที่ชัดเจนกับพนักงาน และสร้างปฏิสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนระหว่างกันของพนักงานอื่น ๆ

3. สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน

เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการใช้สื่อสาร และการทำงานจากที่บ้าน แต่จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารฝ่ายบุคคล 54% ระบุว่าเทคโนโลยี และ/หรือ โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดีนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานจากที่บ้านในองค์กรของพวกเขา

ดังนั้น บทเรียนแรกที่เรียนรู้จากวิกฤตการณ์ไวรัสโคโรน่า คือ จะต้องเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่สามารถรองรับการทำงาน

ในกรณีที่เทคโนโลยี หรือโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรไม่เพียงพอต่อการใช้งาน หรือยังไม่สามารถรองรับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารควรแนะนำแนวทางการใช้ประโยชน์จากอีเมล การส่งข้อความด่วน และแพลตฟอร์ม Social Media อย่างมีประสิทธิภาพให้กับพนักงาน เพื่อผลักดันการใช้งานให้ดีขึ้นและเป็นไปในรูปแบบที่สอดคล้องกันมากขึ้น

Work From Home

 

วงการเพลงจัด “Virtual Concert” – ละครเวทีใช้เทคโนโลยี “Video Streaming” แชร์ความสุขถึงคนทั่วโลก

ในขณะที่งานอีเว้นท์ การแข่งขันกีฬา และการแสดงต่างๆ เช่น ละครเวที, คอนเสิร์ต ต้องเลื่อนออกไปรวมไปถึงผับ – บาร์ – สถานที่บันเทิงต้องปิดชั่วคราว และผู้คนทั่วโลกต้องอยู่แต่ในที่พักของตัวเอง 

แต่ COVID-19 ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อวงการดนตรี และศิลปินนักร้องในการส่งมอบความสุข และความบันเทิงให้กับผู้คนที่กำลังตกอยู่ในภาวะเครียดจากสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ 

หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจของการรวมพลังกัน คือ แคมเปญ “Together At Home” หรือที่ใช้ hashtag #TogetherAtHome เป็นความร่วมมือระหว่าง Global Citizen และ World Health Organization ดำเนินการจัดขึ้น โดยมีศิลปินนักร้องจากหลากหลากแนวเพลงมาจัด “Virtual Concert Series” ที่บ้านของตัวเอง 

เช่น John Legend, Chris Martin, Steve Aoki ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีฟีเจอร์ “Live” เช่น Instagram Live, YouTube Live เพื่อทำให้คนทั่วโลกตระหนักถึงสถานการณ์ COVID-19 และกระตุ้นเตือนความสำคัญของ Social Distancing ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งมอบความสุขให้กับผู้คนในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ 

และอีกเคสที่ใช้เทคโนโลยีมาสร้าง Virtual Experience ในช่วงเวลานี้ คือ “Berlin Philharmonic” วงออร์เคสตราชื่อดังของเยอรมนี ที่ต้องปิดการแสดงชั่วคราวถึงวันที่ 19 เมษายนนี้ โดยในระหว่างนี้ได้จัด “Virtual Concert Hall” เปิดให้ชมฟรีสำหรับทุกคน 

ขั้นตอนไปที่หน้าเว็บไซต์ digitalconcerthall.com ใครที่ยังไม่ได้เป็นผู้ใช้งาน Digital Concert Hall ต้องลงทะเบียนก่อน โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ จากนั้นใส่รหัส BERLINPHIL สำหรับเข้าชมคอนเสิร์ตฟรี 30 วัน

การแสดงใน Virtual Concert Hall ของวงออร์เคสตรา “Berlin Philharmonic” มีทั้งการแสดงกว่า 600 รายการจากกว่าสิบปีที่ผ่านมา และ 15 การแสดงของ Chief Conductor คนใหม่ “Kirill Petrenko” รวมทั้งเบื้องหลัง และสารคดีประวัติของวง 

ไม่เพียงแต่วงการดนตรีเท่านั้น ทางด้านโรงละครบรอดเวย์ (Broadway Musical) เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่ต้องปิดการแสดงชั่วคราว แต่หลายแห่งได้ใช้เทคโนโลยี เปิดให้ชมผ่านออนไลน์ 

หนึ่งในนั้นคือ โรงละครบรอดเวย์ชื่อดังอายุกว่า 137 ปีตั้งอยู่ในมหานครนิวยอร์ก “The Metropolitan Opera” หรือ “The Met” ได้เลือกสรรบันทึกการแสดงละครบรอดเวย์ชื่อดังที่เคยเปิดการแสดง นำมาออกอากาศอีกครั้งทาง ออนไลน์ รับชมฟรีทั้งทางเว็บไซต์ของ The Metropolitan Opera และแอปฯ สตรีมมิ่ง The Met Opera ที่ติดตั้งในอุปกรณ์ Apple, Amazon, Roku และสมาร์ททีวี Samsung จึงสามารถรับชมได้ทั้งทางสมาร์ททีวี และโทรศัพท์มือถือ

Together-At-Home-Virtual-Concert
Credit : YouTube Go Live!

Berlin Philharmonic Digital Concert Hall
Photo Credit : Berlin Philharmonic

 

“Virtual Art & Museum” ท่องเที่ยวงานศิลปะสัมผัสวัฒนธรรมทั่วโลกด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง

ถึงแม้เทคโนโลยี Virtual ไม่สามารถสร้างประสบการณ์ได้เท่ากับการเดินทางไปสัมผัสสถานที่จริงด้วยตัวเองก็ตาม แต่ทว่าสามารถเติมเต็มประสบการณ์ในสถานการณ์ COVID-19 และทำให้ผู้คนสามารถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยว ชมงานศิลปะชั้นยอดจากทั่วทุกมุมโลกได้คราวเดียว โดยที่เราสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ และรวบรวมเรื่องราวต่างๆ เพื่อศึกษาข้อมูลพิพิธภัณฑ์ งานศิลปะ หรือสถานที่นั้นๆ จากข้อมูลที่ใส่ไว้ในหน้า Virtual Museum หรือ Virtal Art Gallery ต่างๆ หรือใช้ Virtual Museum ในการศึกษาข้อมูล ก่อนเดินทางไปเยือนสถานที่จริง 

Google ล็งเห็นเทรนด์ “Virtual” ต่อไปจะเติบโตมากขึ้น และเพื่ออนุรักษ์ศิลปะ – วัฒนธรรมทั่วโลก จึงได้เปิดตัว “Google Arts & Culture” รวบรวมพิพิธภัณฑ์กว่า 2,000 แห่งใน 80 ประเทศทั่วโลกภาพถ่าย วิดีโอ เอกสารต้นฉบับ และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์กว่า 6 ล้านชิ้น รวมทั้งนิทรรศการในรูปแบบดิจิทัลกว่า 7,000 นิทรรศการ นำมาไว้บนออนไลน์ 

Google-Arts-and-Culture
Credit : Google Arts & Culture

มีจุดมุ่งหมาย 2 ประการคือ 

1. ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงศิลปะ และวัฒนธรรมได้ทุกที่ 

2. เป็นพันธมิตรด้านนวัตกรรมสำหรับองค์กรด้านวัฒนธรรม เพื่อช่วยแบ่งปัน และอนุรักษ์เนื้อหาทางวัฒนธรรม และสร้างประสบการณ์ทางวัฒนธรรม ด้วยการใช้เทคโนโลยี 

เทคโนโลยีที่เข้ามาผสานกับงานศิลปะ และวัฒนธรรม เช่น 

  • การจัดนิทรรศการออนไลน์ โดยใช้เทคโนโลยีจาก Google Street View

  • ภาพความละเอียดสูงด้วยกล้อง Art Camera ที่มีความละเอียดขนาดกิกะพิกเซล 

  • Google Cardboard โมเดลต้นแบบของ Google Cardboard แว่น VR ที่ทำจากกล่องกระดาษ สร้างขึ้นที่ Googel Arts & Culture Lab ในกรุงปารีส

  • Street View ภายในพิพิธภัณฑ์ 

  • สำรวจวัฒนธรรมผ่าน Google ปัจจุบันมีผู้เข้าชม Google Arts & Culture ในแต่ละเดือนมากกว่า 500 ล้านครั้ง 

  • การทดลองร่วมกับศิลปิน และสถาบันด้านวัฒนธรรม ที่ Googla Arts & Culture Lab กรุงปารีส ได้ทำการทดลองจะนำ Machine Learning และเทคโนโลยีใหม่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านวัฒนธรรม และศิลปะ 

Google-Arts-and-Culture
Credit : YouTube Google Arts & Culture

ที่ผ่านมาการรับชมคอนเทนต์ต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง อยู่ในวงจำกัด ไม่ได้ใช้งานอย่างแพร่หลาย แต่จากตัวแปร COVID-19 เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับ “Virtual Experience” มากขึ้น และเชื่อว่าต่อไปจะกลายเป็น “New Normal” ในชีวิตประจำวัน ทั้งการเรียนการสอน, การทำงาน,ศิลปะ และวัฒนธรรม, การท่องเที่ยว, ความบันเทิง, อีเว้นท์ และอื่นๆ อีกมากมาย

และเมื่อถึงวันที่สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โลกของ Virtual เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผสานเข้ากับโลก Physical เพื่อเติมเต็มประสบการณ์ด้านต่างๆ ของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น 

 

 

Source : Wunderman Thompson , UNESCO , The Straits Times 1, 2

Source : Global Citizen , Billboard

Source : World Economic Forum , Berlin Philharmonic


  • 352
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE