10 จุดเปลี่ยนอนาคตประเทศไทย-ธุรกิจไทย ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ และเตรียมพร้อม!!

  • 204
  •  
  •  
  •  
  •  

10-Tuning-Point

ในโลกยุค Globalization ที่เทคโนโลยีก้าวล้ำไปไกลอย่างไร้ขีดจำกัด ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเชื่อมต่อคนทั้งโลกเข้าหากัน เมื่อมองกลับมาที่ “ประเทศไทย” การจะก้าวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก และแข่งขันได้ในระดับสากล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับ “ความสามารถการแข่งขันทั้งในระดับองค์กร และประเทศ” (Thailand Competitiveness) โดยเริ่มจากการมียุทธศาสตร์พัฒนาประเทศที่ชัดเจน ขณะเดียวกันต้องมีกลไกขับเคลื่อนที่สร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

“สมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย” (Thailand Management Association : TMA) องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร นำโดย “คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธาน” และ “คุณธรรมศักดิ์ จิตติมาพร รองประธาน” ร่วมกันสะท้อนมุมมมองต่อสิ่งที่ประเทศไทย ภาคธุรกิจไทย รวมถึงคนไทยต้องเรียนรู้ ปรับตัว พัฒนา เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในบริบทระดับโลก และในประเทศ ดังนี้

1. Material Sciences สร้างสิ่งใหม่บนโลก นักวิทยาศาสตร์ – นักวิจัยได้คิดค้น Material ใหม่ๆ ที่ทำให้เกิด Breakthrough บนโลกใบนี้ โดย “Thomson Reuters” เคยนำเสนอบทความ The World in 2025: 10 Predictions of Innovation รวบรวม 10 นวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในปี 2025 หนึ่งในนั้นคือ การพยายามพัฒนาวิศวกรรมการบิน ที่ต่อไปเครื่องบิน และรถยนต์จะมีการใช้วัสดุใหม่ๆ ที่ทำให้ยานพาหนะมีน้ำหนักเบา พร้อมทั้งขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ Lithium-ion ซึ่งเหมาะสำหรับนำไปพัฒนาเครื่องบินพาณิชย์ขนาดเล็ก เพื่อการเดินทางระยะสั้น และยังทำให้เครื่องบินสามารถลงจอดในพื้นที่ขนาดเล็กได้

2. Digital Disruption โลกต้องตระหนัก และปรับตัว ทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในยุค Digital Disruption และประเทศไทยมีความพยายามอย่างสูงในการปรับตัว อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นประเด็นหลักของไทยขณะนี้ คือ ขาดกำลังคนที่มีความรู้-ความสามารถด้านเทคโนโลยีมาทำงาน ทั้งในระดับปฏิบัติการ และระดับบริหาร

“เวลานี้ทั่วโลกกำลังกังวลต่อคำว่า “Big Tech Company” จะเข้ามา dominate ตลาด และทำให้เกิดการผูกขาดอีกรูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตามถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง การเอา Big Tech Company เข้ามาประเทศไทย ถือเป็นการเรียนลัดอีกวิธีหนึ่ง และจะทำให้เกิดการจ้างงาน และสร้างทักษะให้กับคนไทยได้อย่างมหาศาล แต่ทั้งนี้เราต้องดูจุดสมดุลระหว่าง Big Tech Company ได้ประโยชน์จากไทย กับ ไทยได้ประโยชน์จากบริษัทเหล่านี้

เพราะฉะนั้นการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยี คือโจทย์ร่วมกันของประเทศไทย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาควิชาการ – ภาครัฐ – ภาคเอกชน เพื่อสร้างบุคลากรด้านนี้ และถ้าเราสามารถพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีได้ดี จะทำให้ Resource ที่อยู่รอบๆ ไทย เข้ามาอยู่ที่ประเทศไทย และเราจะกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และไอทีในบางสาขาของภูมิภาคนี้ เช่น Coding, Data Analysis, Cyber Security ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ” คุณธีรนันท์ ขยายความเพิ่มเติม

Resize คุณธีรนันท์ ศรีหงส์
คุณธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)

3. Biological Technology ช่วยชีวิตคนให้ยืนยาว คือ การนำความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิต เพื่อป้องกัน หรือรักษาส่วนที่บกพร่องของสิ่งมีชีวิต เช่น ในร่างกายมนุษย์ หากมีส่วนไหนบกพร่อง ที่จะทำให้เกิดโรคตามมา ถ้าสามารถนำ Biological Technology ไปเปลี่ยนแปลงส่วนที่บกพร่องได้ ก็จะทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวขึ้น ซึ่งจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อวงการวิทยาศาสตร์ และการแพทย์

4. Food & Agriculture ได้เวลาประเทศไทยต้องสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าการเกษตร-อาหาร เมืองไทยได้ชื่อว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่ไม่ขาดแคลนสินค้าเกษตร วัตถุดิบอาหาร และสินค้าอาหาร ทำให้ทั้ง 2 เซ็กเตอร์นี้ คือ ความได้เปรียบของประเทศ แต่พัฒนาการนับจากนี้ ต้องมีการวิจัย พัฒนา นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ และทำแบรนด์ดิ้งให้มากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตรของไทย

ขณะเดียวกันอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นมากขึ้น คือ คนรุ่นใหม่ ที่เติบโตในครอบครัวเกษตรกร กลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น เพื่อเป็นเกษตรกรพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้ดีขึ้น ซึ่งคนรุ่นใหม่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา “Value Chain” อุตสาหกรรมการเกษตรไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

Resize Agriculture_02

“ประเทศไทยมีความได้เปรียบเรื่องเกษตรมานาน ทั้งพื้นที่เพาะปลูก มีดินฟ้าอากาศที่ดี มีความชำนาญในการทำเกษตรกรรมมาเป็นร้อยๆ ปี แต่ที่ผ่านมาเราเป็น Low cost producer ของโลก ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด เราไม่มีคนรุ่นใหม่ที่มาทำ ขณะที่สินค้าอาหาร ถูก Innovate จากบริษัทผลิตอาหาร และขายทั่วโลก เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย ยังคงเป็น Raw Material Provider ที่ดี โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ 

แต่ขณะเดียวกันคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเกษตร ก็อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมการเกษตรมากขึ้นเรื่อยๆ กลับมาสานต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ เพราะเขาเห็นศักยภาพ และคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา Value Chain อุตสาหกรรมการเกษตรไทย จากปลูกพืชผลทางการเกษตร ก็มาสร้างธุรกิจของตัวเอง เช่น ทำ Trading เอง ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจเห็นสินค้าการเกษตรไทยบางอย่าง สามารถสร้างมูลค่าเหมือนเช่นไวน์บางชนิดของฝรั่งเศสก็เป็นไปได้” คุณธรรมศักดิ์ ขยายความเพิ่มเติม

Resize คุณธรรมศักดิ์ จิตติมาพร
คุณธรรมศักดิ์ จิตติมาพร รองประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)

5. ธุรกิจบริการ และค้าปลีก ผสานกันระหว่าง Physical – Digital Solution ในยุคดิจิทัลเป็นยุคบูมของ “E-Commerce” เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังจับตามองถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับ “ประเทศไทย” กลับมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะด้วยความที่ไทยเป็นเมืองร้อน และคนไทยชอบอยากอยู่ในสังคมที่มีคนเยอะๆ เพราะฉะนั้นในขณะที่ “E-Commerce” ในไทยเติบโตรวดเร็ว แต่ยังคงเห็นคนไปเดินศูนย์การค้ากันมากมาย

แต่ถึงแม้คนไทยยังคงไปเดินเล่น พักผ่อนที่ศูนย์การค้า แต่บทบาทของ Retailer ในทุกวันนี้ก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน โดยไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ช้อปปิ้ง ที่มาซื้อสินค้า แล้วกลับ แต่เป็นศูนย์กลางของการใช้ชีวิต เป็นสถานที่ที่นำเสนอไลฟ์สไตล์ และประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค ที่ผสานโลก Physical และ Digital เข้าหากัน ซึ่งเป็นการปรับตัวรับการขยายตัวของ “E-Commerce”

เช่นเดียวกับภาคบริการอื่นๆ อาทิ ธุรกิจโรงแรม, อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่ Government Service ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล มาปรับใช้ เพื่อทำให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น โดยต่อไปงานบริการบางส่วน จะถูกแทนที่ด้วย Digital Service

Resize Technology

6. Logistic ความได้เปรียบบนภูมิศาสตร์ประเทศ เป็นอีกเซ็กเตอร์ที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับไทย หากได้รับการพัฒนาที่ดี เพราะด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของอาเซียน จึงสามารถผลักดันให้เป็นศูนย์กลางด้าน Logistic ในภูมิภาคอาเซียน ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า-บริการไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ

shutterstock_636393125

7. ธนาคารไทย ต้องผนึกกำลัง FinTech สู้ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ในบรรดาภาคธุรกิจต่างๆ ในไทยที่มีการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล จะพบว่า “ธนาคาร” เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่มีการพัฒนาด้านดิจิทัล อย่างไรก็ตามเมื่อบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินรายใหญ่ของโลกเข้ามาในไทย ขีดความสามารถด้านดิจิทัลของธนาคารไทยอาจไม่เพียงพอต่อการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่

เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินเหล่านี้ เป็นยักษ์ใหญ่ มีฐานลูกค้าเยอะ และที่สำคัญคล่องตัวกว่าธนาคารไทย แม้สินค้าและบริการที่บริษัทการเงินเหล่านี้ พัฒนาและนำเสนอให้กับผู้บริโภค เจาะเฉพาะบางบริการ ไม่ได้ครอบคลุมเหมือนธนาคาร แต่นั่นก็สามารถเข้ามา Disrupt ได้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของอุตสาหกรรมการเงินในไทยที่ต้องหาทางเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

“แบงก์ในเมืองไทย ถ้าจะสู้กับ “Alibaba” สู้อย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะเขามีวิศวกรอยู่ที่หางโจว 50,000 คน และยังมี Ant Financial เป็นบริษัททางการเงินใหญ่ที่สุดในโลก ซื้อทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ถ้าองค์กรไทย ซึ่งเป็นองค์กรเล็กๆ เหมือนมดตัวเล็กๆ จะสู้กับราชสีห์ ต้องไปเอา “กองทัพมด” มาสู้ และทำงานประสานกันให้ได้

การจะทำแบบนี้ได้ แบงก์ไทยต้องมีความสามารถในการเป็นพันธมิตรกับ “FinTech” เพราะฉะนั้นแบงก์ไทยไม่ใช่คู่แข่ง FinTech ขณะเดียวกัน FinTech ก็ไม่ใช่คู่แข่งแบงก์ไทย แต่ “FinTech” คือทางรอดของแบงก์ไทย โดยต้องสร้าง FinTech ที่ประสบความสำเร็จ และทำงานร่วมกับแบงก์ไทยได้ ถึงจะแข่งขันกับ Alibaba ได้” คุณธีรนันท์ สะท้อนมุมมองทางออกธุรกิจธนาคารไทย

Resize Banking

8. Collaborative Partnership เสริมความแข็งแกร่งประเทศไทย และองค์กรไทย ในอดีตการจะทำอะไร องค์กรจะลงมือทำเองเกือบทุกขั้นตอนของ Value Chain ธุรกิจ เพราะต้องการให้ทุกอย่างอยู่ในการควบคุม แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป เกิด Disruption รอบด้าน และมีผู้เล่นที่หลากหลายในตลาด ทำให้หลายองค์กรธุรกิจเริ่มตระหนักแล้วว่า ถ้าบริษัทจะยังรักษาความเปรียบทางการแข่งขัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเอาความสามารถจากภายนอกองค์กร เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Value Chain ธุรกิจด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้การทำธุรกิจในยุคนี้ หรือแม้แต่การขับเคลื่อนในระดับประเทศ ต้องมีความสามารถในการทำ “Collaborative Partnerhip” นั่นคือ การเอาความเก่งของคนอื่น มาเสริมความเก่งของเรา

“สิ่งที่ต้องพึงระวังสำหรับการทำ Collaborative Partnership คือ วันนี้จับมือกัน แต่ยังไม่รู้วันข้างหน้า Solution ของความร่วมมือนี้จะเป็นอย่างไร และเมื่อได้ผลออกมาแล้ว จะแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันอย่างไร อีกทั้งเมื่อเราเป็นพันธมิตร นั่นเท่ากับในบางกระบวนการของ Value Chain เรายืมจมูกคนอื่นหายใจ สักวันหนึ่งหากพาร์ทเนอร์เลิกทำธุรกิจ เรามีความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากพาร์ทเนอร์ได้มากน้อยเพียงใด” ประธาน TMA ชี้ถึงสิ่งที่ควรตระหนักของการสร้างความร่วมมือ

Resize Supreme Louis Vuitton (Cr. Facebook Supreme)
Photo Credit : Facebook Supreme

9. องค์กรไทยต้องสร้างความหลากหลายภายในองค์กร และ ผู้นำต้องมี Global Mindset จุดอ่อนองค์กรไทยประการหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถก้าวไปสู่เวทีระดับสากล คือ ยังไม่สามารถบริหารจัดการความแตกต่าง (Diversify Management) ได้เท่าที่ควร เพราะคุ้นเคยกับการวัฒนธรรมองค์กรไทย และสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไทยที่ยังคงเป็น Top Down Company ที่นโยบาย และการตัดสินใจต้องมาจากระดับบริหารเท่านั้น

เพราะฉะนั้นวิธีการทำให้องค์กรไทย ก้าวไปยืนอยู่บนเวทีระดับโลก ท่ามกลางโลกที่นวัตกรรมพัฒนาอย่างรวดเร็ว และรุนแรง คือ ต้องเพิ่มความหลากหลายภายในองค์กร เช่น มีพาร์ทเนอร์ หรือบุคลากรต่างประเทศมาร่วมงาน ขณะเดียวกันคนในองค์กร โดยเฉพาะผู้นำ ต้องเป็น “Global Leadership” และมี “Global Mindset” นั่นคือ เปิดใจ-ปรับแนวคิด มีความพร้อมด้านภาษา ความพร้อมในการเข้าใจวัฒนธรรมที่ต่างกัน มองไปข้างหน้า สร้างความคล่องตัวให้เกิดขึ้นในองค์กร และมีความสามารถในการบริหารจัดการความแตกต่าง และหลากหลาย

10. สร้าง Entrepreneur Spirit ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ข้อมูลจาก LINE ประเทศไทย เผยว่าไทยเป็นประเทศที่มี Online Seller มากที่สุดในโลก ที่ขายสินค้าผ่าน LINE, Facebook, Instagram สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีจิตวิญญาณความเป็นเจ้าของกิจการ หรือเถ้าแก่อยู่สูง

แต่ธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก (SME) จะไปได้ไกลหรือไม่นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าของกิจการต้องสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้แบบมีหลักการ ด้วยเหตุนี้เอง “TMA” จึงได้เปิดคอร์สฝึกอบรมพัฒนา SME เพื่อสร้าง Entrepreneur Spirit ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยใช้หลักผสมผสานการเรียนรู้ สร้างความเป็นผู้นำที่มี Global Mindset เพื่อนำไปต่อยอดการทำธุรกิจให้ยั่งยืน

 

Copyright ©MarketingOops.com

 


  • 204
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ