“Sense of Purpose” กลยุทธ์ “SCB” ปลุกพนักงานทำงานมีเป้าหมาย-เน้นประสบการณ์ลูกค้าก่อนผลกำไร

  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •  

SCB-Sense of Purpose_cover

การขับเคลื่อนธุรกิจ และแบรนด์ในยุค Technology Disruption ท่ามกลางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว การแข่งขันรุนแรง จากคู่แข่งทั้งรายเดิม และรายใหม่เข้ามาท้าชิง ทำให้ผู้บริโภคมี “ทางเลือก” มากขึ้น แบรนด์ที่จะเป็นผู้นำ และชนะใจลูกค้าได้ ไม่ได้วัดกันแค่ “ตัวเลขยอดขาย” หรือ “ผลกำไร” เท่านั้น

แต่หัวใจของการดำเนินธุรกิจทุกวันนี้ ต้องมี “Purpose Driven” คือ การขับเคลื่อนองค์กร และแบรนด์ ด้วยการกำหนดเป้าหมาย หรือเป้าประสงค์ชัดเจนว่า องค์กร และแบรนด์นั้นๆ มีความหมายกับลูกค้า-สังคม หรือต่อโลกอย่างไร สร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคด้านไหน หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับคน และสังคมอย่างไร ซึ่งการมุ่งที่ “Purpose” เป็นแนวทางที่ทำให้องค์กร – แบรนด์นั้นๆ เติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่วัดการเติบโตด้านตัวเลขปีต่อปีเท่านั้น !!

เวลานี้ จะเห็นหลายองค์กร โฟกัส “Purpose Driven” มากขึ้น และหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่โดนกระแส “Technology Disruption” ไม่น้อยอย่าง “วงการธนาคาร” ที่ในอดีตแข่งกับธนาคารด้วยกันเอง แต่ยุคนี้ มีบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินเกิดขึ้นมากมาย เข้ามาท้าชิง และแย่ง Transaction บริการด้านการเงินบางอย่างไปจากธนาคารได้สำเร็จ ถึงกับทำให้ “ธนาคาร” หลายแห่งต้อง “ยกเครื่อง” ครั้งใหญ่

“SCB” ก็เช่นกัน ใช้จังหวะนี้ปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ ด้วยการประกาศภารกิจ “SCB Transformation” ที่มีเป้าหมายใหญ่ คือ การเป็น “The Most Admired Bank” หรือการเป็นธนาคารที่ลูกค้ารัก ด้วยการนำเสนอ “ประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า”

Resize SCB
Photo Credit : Settawat Udom / Shutterstock.com

แต่การจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับกระบวนการภายในองค์กร ทั้งการยกระดับเทคโนโลยี และด้านคน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “SCB” ได้ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว ดังนั้นในปีนี้ จึงเป็นปีแห่งการโฟกัสด้าน “บุคลากร” โดยวางกลยุทธ์ “Sense of Purpose” คือ การทำให้พนักงาน รับรู้ในเป้าหมาย หรือเป้าประสงค์ ทั้งของตัวเอง – ทีม – องค์กร

Sense of Purpose จะเป็นวัฒนธรรมการทำงานยุคใหม่ของ “SCB” ซึ่งวัฒนธรรมองค์กร คือหัวใจหลักของการขับเคลื่ององค์กรไปข้างหน้า ดังที่กูรูด้านการบริหารจัดการ เคยกล่าวไว้ว่า “Culture eats strategy for breakfast”

“Sense of Purpose มีความสำคัญอย่างมากในการทำธุรกิจยุคนี้ เพราะการแข่งขันสูง ถ้าเราตอบผู้บริโภคไม่ได้ว่า องค์กรทำหน้าที่เพื่ออะไร มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค และสังคมอย่างไร เราก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ เพราะจะมีคนอื่นมาแทนเสมอ ดังนั้นต้องหา Purpose ให้เจอว่าองค์กรทำเพื่ออะไร และทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าองค์กรมีประโยชน์ ขณะเดียวกันทีมต้องรู้ว่า เรากำลังทำงานเพื่อสนับสนุนองค์กร และเพื่อลูกค้า และในระดับพนักงาน รู้ว่าตัวเองทำงานเพื่ออะไร แต่ละคนมีเหตุผลต่างกัน เมื่อพนักงานมี Purpose จะทำให้รู้เหตุผลของการตื่นเช้ามาทำงาน และกระตือรือร้นในการทำงาน” คุณธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการอาวุโส Chief Marketing Officer  เล่าถึงเหตุผลองค์กรต้องขับเคลื่อนด้วย Purpose Driven

Resize SCB_Purpose_Khun Thana_01

 

ปรับวิธีคิด สร้าง Customer Engagement ก่อนคิดถึงเรื่องกำไร-ขาดทุน  

 

ถึงแม้ “SCB” จะเป็นองค์กรเก่าแก่ ที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน มีทั้งความน่าเชื่อถือ และติดอันดับ 1 ใน 50 องค์กรที่คนรุ่นใหม่สนใจอยากร่วมงาน (จากข้อมูลของ WorkVenture) แต่ “SCB” ก็ยังเจอกับความท้าทายด้าน “คน” เช่นเดียวกับองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งที่เกิดและเติบโตในยุค Analog กำลังเผชิญอยู่

ทั้งวัฒนธรรมองค์กรที่สานต่อมายาวนาน แต่ปัจจุบันพบว่าบางอย่างกลับไม่ตอบโจทย์ยุคสมัยนี้, ช่องว่างระหว่าง Generation, ความภักดีต่อองค์กรที่ลดลง หรือแม้แต่ Mindset พนักงานที่ในอดีตถูกวัด KPI ยอดขาย ทำให้พนักงานธนาคาร ต้องมุ่งแต่จะปิดการขาย เพื่อทำให้ถึงยอดที่วางไว้ โดยบางครั้งไม่ได้สนใจว่าลูกค้าต้องการ หรือไม่ต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเงินนั้นๆ ทำให้ธนาคารในสายตาผู้บริโภค มองว่าสนใจแต่เรื่องกำไร-ขาดทุน มากกว่าคำนึงถึง “ประสบการณ์ที่ดี” และ “ความต้องการ” ที่ตรงใจผู้บริโภค !!

กลยุทธ์ “Sense of Purpose” ของ SCB ครอบคลุม 3 ด้าน เริ่มจาก…

“People Purpose” เป็นเป้าหมายระดับบุคคล ซึ่งแต่ละคนมี Purpose ในการทำงานแตกต่างกัน

“Team Purpose” เป้าหมายทีม โดยแต่ละทีมในองค์กร ต้องมีเป้าหมายในการแก้ Pain Point ที่ลูกค้าประสบ เพื่อนำไปสู่ “การสร้างประสบการณ์ที่ดี” ให้กับลูกค้า

และยอดบนสุด คือ “SCB Purpose” คือการเป็นธนาคารที่ลูกค้ารัก

Resize SCB_Purpose_02

“เดิมเราเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเลขกำไร-ขาดทุนเป็นหลัก ซึ่งธุรกิจยุค ’80 – ‘90s เป็นอย่างนี้กันหมด ทุกธนาคารขับเคลื่อนด้วยกำไร แต่เมื่อมีธุรกิจ “Digital Giant” เกิดขึ้น เช่น Alibaba, Grab, Google, Facebook, LINE โมเดลธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ไม่ได้เริ่มต้นขับเคลื่อนองค์กรด้วยกำไร-ขาดทุนก่อน แต่เริ่มจากการตอบสนองความต้องการบางอย่างที่มีประโยชน์ให้กับผู้บริโภคก่อน เพื่อทำให้ลูกค้ามี Engagement ทำให้ลูกค้ารัก มีประสบการณ์กับแบรนด์ และสินค้าของเขาก่อน แล้วค่อยทำการค้าขาย หรือหารายได้จากการที่ลูกค้าเข้ามามี Engage กับแบรนด์ และสินค้าของเขา

แตกต่างโมเดลธุรกิจสมัยก่อน องค์กรมีความผูกขาด อย่างธนาคาร ผูกขาดเรื่อง “Trust” แต่ทุกวันนี้จะเห็นว่าผู้บริโภคให้ความเชื่อใจใช้ e-Wallet ของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ดังนั้นธนาคาร จะอาศัยการผูกขาดเรื่อง “Trust” อย่างเดียวไม่ได้แล้ว

ขณะเดียวกันธนาคารต้องมี “Sense of Purpose” ชัดเจน ไม่ได้คิดแต่เรื่องกำไร-ขาดทุน ไม่อย่างนั้น 1. เราจะกลายเป็นธนาคารธรรมดาทั่วไป ซึ่งเขาเลือกใช้บริการจากธนาคารไหนก็ได้ เพราะการเป็นธนาคารธรรมดาทั่วไป ในที่สุดจะสูญพันธุ์อย่างแน่นอน และ 2. จะมีคนมาทำแทนที่เรา เพราะถ้าเราไม่สามารถทำสิ่งที่จับใจลูกค้าได้ ไม่มี Emotional Bonding กับลูกค้า ก็จะเป็นแค่ธนาคารทั่วไป ที่ไม่น่าจะทำธุรกิจได้ในยุคสมัยนี้” คุณธนา ขยายความเพิ่มเติม

Resize SCB_02
Photo Credit : Nuk2013 / Shutterstock.com

 

ตั้งคำถามแทงใจพนักงาน “เราทำงานเพื่ออะไร?”

 

เป็นเรื่องปกติของการทำงาน ย่อมมีความรู้สึกเจ็บปวด ที่สั่นคลอนจิตใจ และคุณค่าในการทำงาน เช่น

แก่แล้ว, ทำงานจนตัวตาย แต่ไม่มีใครเห็นค่า, ไปทำงาน โดนด่า, ใครจะไปเชื่อ เป็นแค่เด็ก, ทำ แต่ไม่รู้ จะทำ ทำไม, ตำแหน่งแค่ Staff และอีกมากมาย

ความรู้สึกเหล่านี้ ก็จะทำให้พนักงานทำงานไปวันๆ เมื่อหมดวัน ก็กลับบ้าน เช้ามา มาทำงานใหม่ วนลูปอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้พนักงาน ไม่มี Purpose ในตัวเอง หรือบางคนเคยมี แต่เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ กลับลืม Purpose ตั้งแต่ในวันแรกที่เข้ามาทำงาน และหากเป็นเช่นนี้ จะเป็นอุปสรรคที่ทำให้องค์กรไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ !!

Resize SCB_Purpose_03

เพราะฉะนั้นการทำให้พนักงานกว่า 27,000 คน มองไปที่เป้าหมายเดียวกัน ที่ต้องการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เพื่อให้เป็นธนาคารที่ลูกค้ารัก-ชื่นชม และในที่สุดแล้วผลกำไรจะตามมา จึงได้ทำแคมเปญชวนพนักงานตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราทำงานเพื่ออะไร” เพื่อให้พนักงานค้นหา “Purpose” ของตัวเอง และบางคนมี Purpose ที่ชัดเจนอยู่แล้ว

แน่นอนว่าแต่ละคน มี Individual Purpose แตกต่างกัน บางคนทำงานเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น เพื่อครอบครัว เพื่อคนที่เรารัก เพื่อค่าเทอมลูก เพื่อแม่ เพื่อเก็บเงินไปเที่ยว หรือชำระค่าบ้าน ผ่อนรถ เพื่อจ่ายหนี้บัตร เพื่ออนาคตที่ดี ฯลฯ

เมื่อพนักงานแต่ละคนเห็น Purpose ของตัวเองที่ชัดเจนแล้ว ก็สามารถตอบคำถามได้ว่า “ทุกวันนี้ เราตื่นเช้ามาทำงานเพื่ออะไร?” ซึ่งจะทำให้การทำงานของพนักงานทุกคน ทุกระดับชั้น มี Purpose หรือจุดมุ่งหมายชัดเจน และทำให้ทุกคนเห็น “คุณค่าของตัวเอง” ที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า

“องค์กรทั่วโลก เจอกับสถานการณ์พนักงานรักองค์กรน้อยลง และจากสมัยก่อนมี Lifetime Employment (การจ้างงานตลอดชีวิต) แต่ปัจจุบันองค์กรเปลี่ยนวิธีคิด ถ้าองค์กรอยากดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงาน ด้วยความที่คนรุ่นใหม่มีความเป็น Generation Me สูง เข้ามาทำงานมี Purpose ของตัวเองชัดเจน การทำงานของเขา ไม่ใช่แค่หาความมั่นคง แต่ต้องการเติมเต็ม Purpose ของตัวเอง อย่างคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมงานกับ SCB ไม่ใช่เพราะเป็นองค์กรเก่าแก่ แต่เขาเข้ามา เพราะมี Purpose ที่มีโอกาสได้พัฒนาเทคโนโลยีช่วยเปลี่ยนโลกได้”

Resize SCB_Purpose_04

Resize SCB_Purpose_05Resize SCB_Purpose_09Resize SCB_Purpose_06 Resize SCB_Purpose_08Resize SCB Purpose_05

 

อยากเป็นแบงก์ที่ลูกค้ารัก ต้องแก้ Pain Point ลูกค้าก่อน!

 

จาก “Individual Purpose” ขยับมาสู่ “Team Purpose” นั่นคือ เป้าหมายสร้าง Customer Experience แต่การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เพื่อจะเป็นธนาคารที่ลูกค้ารัก ต้องย้อนกลับมาดูว่า “อะไรคือ Pain Point ที่ลูกค้าเจอ?”

ด้วยเหตุนี้เอง “SCB” จึงทำโครงการ “make no sense” โดยให้พนักงานทุกคนร่วมกันส่งปัญหาของลูกค้าเข้ามา ที่ส่วนกลาง เพื่อนำไปสู่การแก้ Pain Point ของลูกค้า

“เรามองว่าทำอย่างไรถึงจะรู้จักลูกค้าดีที่สุด และปัญหาของลูกค้าคืออะไร ซึ่งการทำสำรวจ จะเป็นคำถามกว้างๆ ไม่ได้คำตอบของปัญหาที่แท้จริงของลูกค้า เพราะฉะนั้นวิธีคิดอันหนึ่ง คือ ข้อมูลเหล่านี้อยู่ที่ “มวลชน” ซึ่งมวลชนในทีนี้ คือ พนักงานทุกคน เพียงแต่ที่ผ่านมาเขามีข้อจำกัดในการรายงานปัญหาของลูกค้า เช่น หัวหน้าไม่ฟังบ้าง ส่งเรื่องไปแล้ว ไม่เคยมีใครเห็น ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ แต่เราพบว่าพนักงานที่อยู่ประจำสาขา เป็นคนที่รู้ปัญหาดีที่สุด เราจึงให้พนักงานเขียนปัญหาของลูกค้าเข้ามา”

ผลปรากฏว่า มีปัญหาของลูกค้าส่งเข้ามากว่า 3,000 ปัญหา !!!

Resize SCB_Purpose_17

ตัวอย่างของ Customer Pain Point ที่พนักงานสาขาส่งเรื่องเข้ามา เช่น SCB ในสุวรรณภูมิ พบว่าลูกค้ามี Pain Point เวลาแลกเงินต่างประเทศ เขาต้องไปกดเงินสดจากตู้ ATM ก่อน แล้วถือมาแลกที่เคาน์เตอร์ ลูกค้ารู้สึกว่าในเมื่อธนาคารมี QR Code อยู่แล้ว ตัดเงินผ่าน QR Code เลยไม่ได้เหรอ?

หรือปัญหาการรออนุมัติขอสินเชื่อ ทำบัตรเครดิต ที่ลูกค้าไม่สามารถติดตามได้ว่าขั้นตอนถึงไหนแล้ว หรือการทำธุรกรรมทางการเงินบางรายการ ลูกค้าไม่สามารถทำได้ทุกสาขา ต้องติดต่อกับสาขาต้นทางที่ทำธุรกรรมทางการเงินไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งปัญหาใดที่ได้รับการแก้ไขแล้ว จะอัพเดทกลับไปที่พนักงานที่ส่งเรื่องเข้ามา

ขณะเดียวกันภายในองค์กร ได้ปรับกระบวนการทำงาน โดยใช้โมเดล “Agility” พร้อมทั้งตั้งหน่วยงานใหม่ “SCB 10X” ขึ้นตรงกับซีอีโอ โดยได้แรงบันดาลใจจากแผนก Google X ใน Google ที่เปิดโอกาสให้พนักงานทดลองสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดผลกระทบในทางบวกต่อองค์กร เช่น สร้างนวัตกรรม หรือค้นหาโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยรูปแบบเช่นเดียวกับสตาร์ทอัพ ที่คล่องตัว เร็ว และยืดหยุ่น

Resize SCB_Purpose_19

Resize SCB_Purpose_20

Resize SCB_Purpose_21

“Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon.com เป็นคนที่มีความคิดเรื่อง Customer Centric สูงมาก โดยบนหน้าเว็บไซต์ Amazon.com ออกแบบปุ่มยกเลิกการซื้อให้มีขนาดใหญ่ ขณะที่พนักงานในบริษัทบอกว่าถ้าทำอย่างนั้น อาจส่งผลต่อยอดขายหายไป แต่ Insight ของผู้บริโภค ต้องการปุ่มยกเลิกใหญ่ ปรากฏว่าเกิดพฤติกรรมคนเอาของใส่ตะกร้าช้อปปิ้งมากขึ้น เพราะผู้บริโภครู้ว่าถ้าไม่เอาของชิ้นไหน สามารถหยิบออกตะกร้าได้ง่าย

เพราะให้ความสำคัญกับ Customer Centric ทำให้ยอดขาย Amazon.com บนเว็บไซต์ เติบโต และด้วยวิธีการนี้ ทำให้สามารถ Track ข้อมูลได้ว่าลูกค้าเอาสินค้าอะไรใส่ในตะกร้าบ้าง ต่อให้เอาสินค้าออกจากตะกร้า ถ้าต่อไปสินค้าชิ้นนั้น มีโปรโมชั่น ก็สามารถนำเสนอให้กับลูกค้าคนนั้นๆ ได้” คุณธนา ยกตัวอย่างของการสร้าง Customer Experience ที่ทำให้ลูกค้าประทับใจ”  คุณธนา ยกตัวอย่างองค์กรที่ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นตัวตั้ง

หลังจาก Make no Sense แก้ปัญหาลูกค้าแล้ว สเต็ปต่อไปที่เล็งจะขยายผลต่อเนื่อง คือ ทำ Make no Sense ของแต่ละฝ่าย แต่ละแผนก เพื่อเปิดรับฟังปัญหา และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในฝ่ายงานของตนเอง

Resize SCB_Purpose_14 Resize SCB_Purpose_15

 

ผุดร้าน “SCB Pop” ขายสินค้า Merchandising ให้พนักงาน สร้างความเป็นหนึ่งเดียว

 

สิ่งที่อยู่คู่ในการทำงานธนาคาร คือ ชุดยูนิฟอร์ม ในอดีตพนักงาน ภูมิใจในการเป็นพนักงานไทยพาณิชย์ และแต่งชุดยูนิฟอร์ม แต่ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนที่มาจากสายเทคโนโลยี ไม่ชอบแต่งชุดยูนิฟอร์ม ในอดีตเมื่อพูดถึง โจทย์ใหญ่ของ “SCB” ด้านคนในวันนี้คือ เมื่อมี Generation Gap เกิดขึ้น ทำให้มีปัญหาด้าน “Unity” หรือความเป็นหนึ่งเดียว

เพราะฉะนั้นฝ่ายการตลาด จึงได้สร้างโปรเจคร้าน “SCB Pop” จำหน่ายสินค้า Premium – Merchandising เพื่อแก้ปัญหา 1. ในทุกปี SCB ลงทุนหลายสิบล้านบาทในการทำของ Premium – Merchandising ให้กับสาขา เพื่อให้สาขาซื้อนำไปแจกลูกค้า แต่พบว่าของเหล่านี้ พนักงานทั่วไปไม่นิยมใช้ เพราะออกแบบไม่สวย เนื่องจากไม่อยากใช้ของที่มีแต่สีม่วง หรือโลโก้ SCB

2. ด้วยความที่ปัจจุบันในองค์กร SCB ผสมผสานคนทำงานหลากหลาย Generation โดยคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน รู้สึกว่าการใส่ชุดยูนิฟอร์ม เป็นข้อจำกัดทางความคิดของเขา จึงไม่ค่อยเต็มใจที่จะแต่ง แต่วิธีการไม่สามารถไปบังคับให้แต่งเครื่องแบบ หรือปล่อยให้ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบไปเลย

Resize SCB_Pop_06

Resize SCB_Pop_05

Resize SCB_Pop_02

จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของร้าน “SCB Pop” สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ 3 เสาหลัก คือ 1. สร้างความเป็นหนึ่งเดียว (Unity) / 2. ใส่ความเป็นแฟชั่นลงไปในสินค้า โดยจับมือกับดีไซเนอร์ เพื่อให้พนักงานได้ Mix & Match การแต่งตัวได้มากขึ้น / 3. ทำให้พนักงานเห็นว่า ธนาคารก็สามารถ Creative ได้ และลองผิดลองถูกได้ เพราะถ้าโปรเจคนี้ไม่เวิร์ค สามารถรื้อร้านได้ แต่ผลปรากฏว่าหลังจากทดลองเปิดร้าน ใน 3 วันแรก ขายได้วันละ 150,000 บาท (ราคาสินค้าโดยเฉลี่ย 200 – 300 บาทต่อชิ้น) และยอดขายสูงสุดทำได้ 200,000 กว่าบาท !!

“เรารู้ว่าโลกเปลี่ยน เราไม่สามารถยัดเยียดการขายประกัน หรือเอาแต่ขายของอย่างเดียว หรือพูดแต่กำไร-ขาดทุน เราต้องทำให้ลูกค้าชื่นชอบ-ชื่นชมก่อน ด้วยการสร้างความพึงพอใจ-ความสบายใจที่จะใช้บริการ จากนั้นสเต็ปต่อไป ทำให้ลูกค้ารู้สึกดีใจ เช่น ยกเลิกค่าธรรมเนียม ทำให้ลูกค้าดีใจ จากนั้นทำให้ลูกค้าภูมิใจในการเป็นลูกค้าไทยพาณิชย์ เพราะเมื่อเราดูลูกค้าดี ให้บริการดี มีดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ทำง่าย สะดวก รวดเร็ว สร้างความพึงพอใจ และความดีใจให้ลูกค้า เขาจะภูมิใจ และแนะนำเพื่อนๆ หรือคนรอบข้างให้ใช้ SCB ซึ่งความภูมิใจ คือ Most Admired Brand ที่เราต้องการไปถึงเป้าหมาย” คุณธนา กล่าวทิ้งท้าย

Resize SCB_03
Photo Credit : charnsitr / Shutterstock.com

 


  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ