ครม. เห็นชอบเก็บ ‘ภาษี’ จาก ‘แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ’ คาดเพิ่มรายได้ให้ 3,000 ล้านบาทต่อปี

  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

เครดิตภาพ : sitthiphong / Shutterstock.com

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลรัษฎากรฯ จัดเก็บภาษี ‘e-Service’ หรือ การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มดิจิทัลของบริษัทต่างประเทศที่ให้บริการในไทย แต่ไม่มีบริษัทลูกในไทย ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอเข้ามา

การออกกฎหมาย e-Service ฉบับนี้ ทาง รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า เป็นเพราะปัจจุบันมีทั้งเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน ดาวน์โหลดหนัง เพลง เกม การจองโรงแรม จากแพลตฟอร์มต่างประเทศโดยไม่เสียมูลค่าเพิ่ม และยืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ใช้บริการ

โดยประเทศที่มีการใช้กฎหมาย e-Service แล้ว อาทิ ออสเตรเลีย , เกาหลีใต้ ฯลฯ ซึ่งในไทยนั้น หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบแล้ว จะมีการเสนอเข้าที่ประชุมสภา ฯ และกระทรวงการคลังคาดว่า เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จะสร้างรายได้เพิ่มให้รัฐประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ฯ จัดเก็บภาษี ‘e-Service’ เดิมทีเรียกว่า ร่างพ.ร.บ.ฯ จัดเก็บภาษี ‘e-Business’ กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Business ในต่างประเทศ โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ที่มีรายได้จากการให้บริการในไทยเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีแวตกับกรมสรรพากร

เหตุผลเพราะว่า ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ผู้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในต่างประเทศสามารถค้าขายสินค้าและให้บริการได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาตั้งหรือจดทะเบียนในไทย และผู้ให้บริการดังกล่าวไม่มีภาระต้องเสียภาษีแวต ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจลักษณะเดียวกันที่ต้องเสียภาษีแวต และทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้มากขึ้น

สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติที่ให้บริการในไทย อาทิ Facebook, Google, Netflix , Grab, LINE , Shopee และ Lazada เป็นต้น


  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE