นอกจากเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก (มากกว่า 1,000 ล้านคน) อินเดีย ยังเป็นตลาดสำคัญทางเทคโนโลยีด้วย จากการเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่เกิดขึ้น ทำให้ Google เล็งเห็นโอกาสจากการพัฒนาซอฟต์แวร์และบริการในรูปแบบพิเศษเพื่อให้บริการในอินเดียโดยเฉพาะ แถมไม่ได้มีออกมาให้ใช้งานแค่ 1-2 บริการเท่านั้นนะ ว่าแต่มีอะไรบ้าง…ลองไปส่องกันหน่อย!
Android Oreo (Go edition)
แม้ว่าตอนนี้ Google ได้พัฒนาระบบปฏิบัติการ Android 8.0 Oreo ออกมาแล้ว แต่การจะรุกเข้าตลาดอินเดียเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานนั้น Google ได้จัดเวอร์ชั่นที่เรียกว่า Android Oreo (Go edition) ออกมาเพื่อให้ชาวอินเดียได้ใช้งานโดยเฉพาะ ซึ่งจุดเด่นของซอฟต์แวร์ดังกล่าว คือ มีน้ำหนักเบาและไม่กินทรัพยากรภายในมือถือ เรียกว่าใช้งานได้ลื่นไหลไม่ทำให้เครื่องมีอาการหน่วงหรือช้าลงนั่นเอง
Google Go
เป็นแอปพลิเคชันสำหรับการค้นหาซึ่งจะกินพื้นที่ในมือถือเพียง 5MB เหมาะสำหรับผู้ใช้งานในอินเดียเป็นอย่างมาก เพราะใช้พื้นที่เครื่องน้อยมากแถมยังใช้งานได้ด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ เรียกว่าทำให้การค้นหาเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายขึ้น
Files Go
Files Go มาในรูปแบบอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาไฟล์ได้รวดเร็ว เพื่อแชร์หรือเรียกคืนพื้นที่ว่างภายในอุปกรณ์
Google Assistant for the JioPhone
ในอินเดียมีมือถือ 4G ซึ่งเป็นที่นิยมมาก คือ แบรนด์ JioPhone ใช้ระบบปฏิบัติการที่เรียกว่า KaiOS จึงกลายเป็นที่มาของ Google Assistant สำหรับมือถือ JioPhone ทำให้ผู้ใช้มือถือแบรนด์ดังกล่าวสามารถใช้เสียงเพื่อควบคุมและใช้การค้นหาผ่านออนไลน์ รวมถึงการสั่งงานโทรออก ส่งข้อความ หรือตอบโต้กับ JioPhone ในฟังก์ชั่นอื่นๆ
Google Maps “two-wheeler mode”
อย่างที่รู้ว่าผู้คนในอินเดียยังนิยมขับขี่มอเตอร์ไซค์และสกู๊ตเตอร์อยู่มาก Google จึงจัดเตรียมเส้นทางสำหรับผู้ขับขี่ยวดยานในรูปแบบดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องเส้นทางและการเดินทางแก่ผู้ขับขี่พาหนะสองล้อทั้งหลาย ให้สามารถเดินทางโดยสะดวกในเส้นทางที่รถยนต์ไม่สามารถทำได้
Tez bill pay improvements
Tex คือระบบชำระเงินผ่านมือถือของ Google ซึ่งเปิดให้ใช้งานอยู่ในอินเดีย ซึ่งในเร็วๆ นี้ จะมีการเปิดตัวหน้าตาและรูปแบบการใช้งานโฉมใหม่ เพื่อความง่ายในการชำระค่าบริการต่างๆ ภายในแอป โดย Google มั่นใจว่าการเปิดตัวบริการดังกล่าวจะรองรับการชำระเงินให้สะดวกสบายยิ่งขึ้นอีกมาก รวมถึงระบบสาธารณูปโภคและผู้ให้บริการแบบ Direct-to-home ด้วย.
ที่มา : fastcompany