Social Commerce เทรนด์ใหม่รับ Twitter และ Facebook

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

แรงไม่มีแผ่วสำหรับ 2 เว็บสะเทือนโลกสื่อสารรวมถึงโลกธุรกิจอย่าง Twitter และ Facebook ที่วันนี้กูรูประเมินว่าจะมัผู้ใช้หลักแสนคน

ความนิยมของ Twitter และ Facebook มีส่วนทำให้การเข้าเว็บไซต์ไทยๆ ลดน้อยลง เพราะทุกคนต่างขะมักเขม้น อัพเดทรูปภาพ ไล่ติดตาม (Follow) ผู้คนในเครือข่ายของ 2 เว็บ ทั้งจากที่ “ระบบ” แนะนำเข้ามา หรือมาจากเครือข่าย ของเพื่อน ของเพื่อน และของเพื่อน

ในอีกด้านหนึ่ง Twitter และ Facebook ได้สร้างอิทธิพลอย่างมาก ถึงมากที่สุดสำหรับเว็บไซต์ประเภทอีคอมเมิร์ซ เพราะผู้ประกอบการหลายรายต่าง “หยิบ” เอาส่วนที่ดีที่สุดของเว็บประเภทนี้เข้ามาประยุกต์ในการซื้อขายออนไลน์ของเว็บตัวเอง

social-network5

เทรนด์ใหม่ Social Commerce

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กรรมการผู้จัดการตลาดดอทคอม เล่าให้ฟังภายในงาน “ล้วงตับจับกระแสอีคอมเมิร์ซ 2009” เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า แนวโน้มของเว็บอีคอมเมิร์ซนับจากนี้ สื่อจะมีความหลากหลายมากขึ้น (Rich media) มีความฉลาด (Behavioral) มีการผสมผสานเชื่อมโยง (Mash up) มีความเป็นท้องถิ่น มีช่องทางการขายที่แปลกไป และสุดท้าย มีรูปแบบของความเป็น “โซเชียล คอมเมิร์ซ” คือ มีการรีวิว มีการบอกต่อมากขึ้น

“Social Web ไม่ว่าจะเป็น Twitter, Facebook รวมถึง Youtube เป็นตัวสร้างกระแสการบอกต่อ การวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นทั้งทางตรง และทางอ้อม หลายเว็บขายสินค้าเริ่มที่จะทำเว็บเลียนแบบ อย่างเช่น เว็บไซต์ขายรองเท้าก็นำชื่อของยูทูบมาผสมผสานกลายเป็นชื่อเว็บเก๋ๆ อย่าง shoetube ที่มีการรีวิวสินค้ารองเท้าภายในเว็บ แบบนี้เป็นต้น” กูรู อีคอมเมิร์ซว่า

ขณะที่ เว็บอีคอมเมิร์ซ จะมีความฉลาดสามารถล่วงรู้พฤติกรรมของคนที่เข้ามาคลิกชม หรือซื้อสินค้าได้ เจ้าของเว็บก็สามารถกำหนดตารางการโฆษณาในช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือความเป็นท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น คือ เว็บอีคอมเมิร์ซจะเปิดลูกค้าสามารถใช้เทคโนโลยี อย่าง Google Map ค้นหาสินค้าของพวกได้ลงลึกยิ่งขึ้น

“ปัจจุบันมีสินค้าในไทยจำนวนมาก ที่ใช้ Facebook และ Twitter เป็นตัวสร้างกระแส อย่างเช่น HTC ไทยก็ทำ Twitter และมีเครือข่ายที่จะบอกต่อว่า HTC กำลังทำกิจกรรมที่ไหนอย่างไร คนก็ตาม หรืออย่างเครื่องดื่มบางยี่ห้อก็ทำ Facebook ของตัวเอง โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ดึงลูกค้าเป้าหมายเข้ามาร่วมกิจกรรมในเครือข่าย ช่วยในเรื่องของการสร้างแบรนด์ ลอยัลตี้ได้มากมาย”

กระแส “บอกต่อ” มาแรง

“วรวุฒิ อุ่นใจ” นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เห็นด้วยว่า กระแสฮิตของ WebSocial ทั้ง Twitter และ Facebook  ทำให้เว็บอีคอมเมิร์ซปรับตัวสู่การเป็น Social Commerce มากขึ้น เพราะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าที่รวดเร็ว เนื่องจากมีการพูดคุย บอกต่อ วิพากษ์วิจารณ์ และถึงขึ้นโหวตสินค้าภายในเว็บ

 “Web Social เป็นกระแสทำให้เราต้องปรับตัว เพราะการทำเว็บอีคอมเมิร์ซเพียวๆ บางครั้ง คนซื้ออาจรู้สึกว่า สินค้านั้นดีจริงหรือเปล่า แต่ถ้าเราปรับเว็บโดยเน้นความเป็น community หรือใช้ช่องทางประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียล เว็บ ที่มีการพูดคุยถึงตัวสินค้า ก็จะทำให้การตัดสินใจซื้อของลูกค้าเร็วขึ้นมาก”

โดยก่อนหน้านี้ ก็มีตัวเลขของกูเกิลที่ระบุว่า การตัดสินใจซื้อสินค้าของคนยุคนี้เกินครึ่งตัดสินใจ เพราะการ “บอกต่อ” ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้กระจายอยู่ใน Social Network ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Twitter หรือ Facebook

“พรทิพย์ กองชุน” ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจการตลาดประเทศไทย กูเกิลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แนวโน้มการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น วันนี้กว่าคนใช้เน็ตไม่ต่ำกว่า 45.9% ซื้อสินค้าผ่านเน็ต ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก อาจเป็นเพราะปัจจัยสภาพเศรษฐกิจด้วย

ทั้งนี้ สินค้าที่ซื้อกันมากที่สุด ได้แก่ หนังสือ 36.4% รองลงมาเป็นบริการต่างๆ 30.7% และภาพยนตร์ ดีวีดี 18.1%

“วิกฤติน้ำมันแพง คน 1 ใน 3 หันมาช้อปออนไลน์มากขึ้น และกว่า 60% มักหาข้อมูลร้านค้าผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้น แต่วันนี้ไม่ได้มีแค่เสิร์ชแล้ว มีโซเชียลเว็บเข้ามาเป็นเครื่องมือค้นหาตัดสินใจอีกช่องทางหนึ่ง ที่สินค้า และบริการหันมาใช้บริการจากผู้คนในเครือข่ายที่ทุกคนในเครือข่ายให้การยอมรับ และสามารถส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของเขาได้ เป็นช่องทางมาแรง ที่สำคัญไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย”

ดันโฆษณาออนไลน์โต 2 หลัก

นอกจากนี้ ความนิยมของการช้อปออนไลน์ ยังมีแนวโน้มให้การใช้งบโฆษณาออนไลน์ จะมีการเติบโตสูงขึ้นแน่นอน ปัจจุบัน งบโฆษณาออนไลน์ในไทยอยู่ที่ 1% หรือประมาณ 900 ล้านบาท จากเม็ดเงินโฆษณาทั้งหมด 90,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ คาดว่าจะเติบโตขึ้น 2 หลักทุกปี

ด้าน “ภาวุธ” ให้ความเห็นในมุมของอีคอมเมิร์ซ กับเอสเอ็มอีว่า ปัจจุบันอีคอมเมิร์ซในไทยยังไม่ได้มีการแพร่หลายไปสู่กลุ่มเอสเอ็มอีมากนัก ทั้งๆ ที่สามารถเป็นเครื่องมือในการขายสินค้าได้ดี โดยเฉพาะเศรษฐกิจแบบนี้ ปัจจุบัน เอสเอ็มอี ไทยมีราว 8 แสนราย มีเพียง 1 แสนรายเท่านั้นที่มีเว็บอีคอมเมิร์ซ หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แค่ 0.5%

ขณะที่มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยมีการคาดการณ์จากหลายสำนัก คาดว่า ตัวเลขน่าจะอยู่ในระดับ 4-5 แสนล้านบาท แต่วันนี้อาจเพิ่มขึ้นไปแตะ 6 แสนล้านบาทแล้วก็น่าจะเป็นไปได้ ทั้งนี้ คาดกันว่า สิ้นปี 2552 อีคอมเมิร์ซในไทยจะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 30-35% ข้อมูลของตลาดดอทคอม ระบุว่า สินค้าฮิตอันดับ 1 ได้แก่ เครื่องสำอาง แฟชั่น อันดับ 2  อีทิกเก็ต และหนังสือมาเป็นอันดับ 3

ไทยอันดับ 30 อีคอมเมิร์ซโลก 

“ขณะนี้ ถ้าพูดภาพรวมระดับโลก อีคอมเมิร์ซไทยอยู่อันดับที่ 30 ของโลก มูลค่าซื้อขายที่ไอดีซีเคยสำรวจเมื่อปี 2550 ประมาณ 5 แสนล้านบาท เราแซงเวียดนามในภูมิภาคอาเซียน แต่ตามหลังเวียดนามในเรื่องของจำนวนคนใช้อินเทอร์เน็ต”

ส่วนตลาดอีคอมเมิร์ซใหญ่ที่สุดของโลก คือ สหรัฐอเมริกา มีตัวเลขการซื้อขาย 81,750,412  ล้านบาท รองลงมา คือ เยอรมนี 22,579,927 ล้านบาท และญี่ปุ่น 17,166,046 หน่วยล้านบาท

ขณะที่มาเลเซียยังมีมูลค่าซื้อขายอีคอมเมิร์ซมากกว่าไทย หรือประมาณ 759,356 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังไม่มีกูรู ค่ายไหนประเมินได้ว่า การผสมผสานระหว่างโซเชียล เว็บ และอีคอมเมิร์ซ จนกลายเป็นโซเชียล คอมเมิร์ซ นั้น จะทำให้โลกธุรกิจต้องสั่นสะเทือนกันแค่ไหน รู้แต่เพียงว่า บรรดาห้างร้านดังๆ ระดับโลกต่างกำลังหอบหิ้วสินค้าวิ่งเข้าหาช่องทางนี้กันอย่างฝุ่นตลบ..

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


  •  
  •  
  •  
  •  
  •