เปิด Timeline “10 จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมเพลงไทยกว่า 45 ปี” วิเคราะห์ผ่านเพลง-ศิลปินดังแต่ละยุค

  • 2.2K
  •  
  •  
  •  
  •  

Music Industry

ไม่ใช่แค่ “ข่าวสาร” ที่ทำให้คนได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเท่านั้น ขณะเดียวกัน “เพลง” ยังเป็นตัวแทนบอกความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยด้วยเช่นกัน ทั้งการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นใน “สังคมไทย” และการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของ “อุตสาหกรรมเพลง”

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา “อุตสาหกรรมเพลงไทย” เจอกับคลื่น Disruption มาโดยตลอด นับตั้งแต่ยุค Analog มาถึงยุค Digital จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีพลวัติการเปลี่ยนแปลงสูง แต่ละครั้งที่เกิด Turning Point สำคัญ ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนของโมเดลธุรกิจเพลง

มาตามดู Timeline กว่า 4 ทศวรรษอุตสาหกรรมเพลงไทยผ่านการวิเคราะห์ของ 3 กูรูในอุตสาหกรรมเพลงไทย

“คุณจักรพันธุ์ ขวัญมงคล” นักคิด นักเขียนที่มีประสบการณ์ในวงการสื่อดนตรีและภาพยนตร์

“คุณอาทิตย์ พรหมประสิทธิ์” หรือดีเจซอนนี่จาก Cat Radio ผู้เชี่ยวชาญวงการวิทยุไทย และดนตรี

“คุณอนุชา นาคน้อย” ผู้ก่อตั้งร้านน้อง ท่าพระจันทร์ ร้านขายเพลงที่อยู่คู่กับวงการเพลงไทยมายาวนานเกือบ 40 ปี

บนเวทีเสวนา “MARTech” (Music – Art & Recreation Technology) ในหัวข้อ “10 เพลงไทยที่เปลี่ยนอุตสาหกรรมเพลงไทยไปตลอดกาล”

“เวลาเราพูดถึงธุรกิจเพลง ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์เพลงไทยร่วมสมัย จะพบว่าที่ผ่านมามีนวัตกรรมเกิดขึ้น และ Dynamic ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะมองไปอนาคต ควรมาดูกันก่อนว่าวงการเพลงไทยในอดีต ได้เปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปอย่างไร รวมถึงเพลงไทยที่ไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจ แต่ได้ Transform เป็นธุรกิจได้อย่างไร ผ่าน 10 บทเพลงที่เป็น Milestone สะท้อนยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนที่สุด” คุณจักรพันธุ์ ในฐานะ Moderator และผู้ร่วมวิเคราะห์ เล่าถึงที่มาของการเสวนาครั้งนี้

10 จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมเพลงไทย ที่สะท้อนผ่าน 10 บทเพลง – 10 ศิลปินที่ว่านี้มีอะไรบ้าง ไปดูกัน !!!

Music Industry
คุณอนุชา นาคน้อย, คุณอาทิตย์ พรหมประสิทธิ์ และ คุณจักรพันธุ์ ขวัญมงคล ร่วมเล่าจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมเพลงไทยในช่วงกว่า 40 ปี (Photo Credit : Facebook Startup Thailand)

 

จุดเปลี่ยน 1 # เมื่ออุตสาหกรรมเพลงไทย เริ่มทำเพลงให้เป็นธุรกิจ

“เพลงผมไม่วุ่น” ของวง “The Impossible” ช่วงปี 2515

การเกิดขึ้นของ “The Impossible” เป็นศิลปินเพลงสตริงไทยวงแรกๆ ที่มีรูปแบบคล้ายศิลปินต่างประเทศ ทั้งเป็นวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ, ซาวด์เพลง, การแต่งกายที่สร้างกระแสแฟชันฮิตในยุคนั้น และที่สำคัญเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้วงการเพลงไทย ก้าวเข้าสู่ยุคการเป็น “ธุรกิจเพลง”

คุณอาทิตย์ : The Impossible เป็นวงดนตรีแรกๆ ที่มมีรูปแบบคล้ายศิลปินต่างประเทศ เพราะมีการทัวร์ต่างๆ ฟอร์มวงรูปแบบเป็นวงดนตรีที่แท้จริง มีทั้งกีตาร์ กลอง เข้าใจการบันทึกเพลง การปล่อยเพลงฮิต และมีเพลงสร้างชื่อให้กับวงผ่านทางมีเดีย นอกเหนือจากการแสดงสด

“ซาวด์ของวงดนตรี The Impossible ทันสมัยมากในยุคนั้น ฉีกกับดนตรีอื่นๆ ที่เกิดขึ้น และการทำเพลงฟอร์แมตตรงไปตรงมา มีท่อนฮุค ท่อนแยก 3 – 4 นาที จบ เหมาะกับวิทยุมากๆ ประกอบกับหน้าตา และการแต่งตัวของสมาชิกในวง ทำให้คนมองว่าเป็นเพลงของ The Impossible เป็นความบันเทิงที่เสพได้ง่าย”

Music Industry
Photo Credit : Facebook Startup Thailand

คุณอนุชา : สื่อวิทยุก่อนหน้านั้น แยกเป็นสถานีวิทยุ FM เปิดเพลงลูกกรุงเป็นหลัก และสถานีวิทยุ AM เปิดเพลงลูกทุ่งเป็นหลัก ซึ่งการเกิดขึ้นของ The Impossible เป็นวงสตริงยุคแรกๆ จากเมื่อก่อนในไทยมีวงดนตรีสุนทราภรณ์

“ด้วยจังหวะของเพลง มีเพลงที่ถูกนำเสนอในภาพยนตร์มากมาย และแฟชันการแต่งตัว ที่มีผลต่อแฟชันของคนในยุคนั้น ก็ส่งผลในเรื่องประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักได้อย่างรวดเร็ว”

จาก The Impossible ผ่านไป 15 ปี ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่วงการเพลงไทย นั่นคือ การเกิดขึ้นของอัลบั้ม “เมดอินไทยแลนด์” ของคาราบาว

 

จุดเปลี่ยนที่ 2 # เมื่อเพลงไทยสมัยใหม่ ขยายสู่ทั่วประเทศ พร้อมจุดเริ่มต้นตำนาน “ล้านตลับ”

“เมดอินไทยแลนด์” อัลบั้มชุดที่ 5 ของคาราบาว ช่วงปี 2527 สร้างสถิติยอดขาย 3 ล้านตลับ !!!

คุณอนุชา : เพลงเมด อิน ไทยแลนด์ เป็นช่วงรัฐบาลส่งเสริมวัฒนธรรมไทย และเพลงนี้ถูกเปิดในสถานีวิทยุ ทั้ง FM และ AM บวกกับเนื้อหาโดนใจคนไทย เลยกลายเป็นการผสมผสานที่ลงตัว

คุณอาทิตย์ : คาราบาวเป็นศิลปินไทยวงแรกๆ ที่ใช้เครื่องดนตรีต่างประเทศ แต่ทำเพลงออกมา ทั้งซาวด์ และเนื้อหามีความเป็นไทย ทำให้คนไทยรู้สึกใกล้ชิด จับต้องได้ ทำให้เป็นอัลบั้มแรกๆ ที่ทำให้คนฟัง อยากได้ทั้งอัลบั้ม และการทำอัลบั้มนี้ มีการขายสปอนเซอร์ต่างๆ ที่ผูกกับสินค้ามากขึ้น

อัลบั้มเมดอินไทยแลนด์ ทำให้ธุรกิจเพลงในไทย ได้เรียนรู้ว่าการทำเพลงที่ connect กับคนไทย ผ่านเนื้อหาไทย มีความเป็นไทย ทำให้โดนใจกลุ่มผู้ฟังได้จริง

“คาราบาว เป็นวงดนตรีแรกๆ ที่ไปทั่วประเทศ ขยายตลาดไปไกลมากกว่าตลาดในกรุงเทพฯ กระจายไปต่างจังหวัด และภูมิภาค”

คุณจักรพันธุ์ : ที่ผ่านมาผู้ผลิตไม่แน่ใจว่าผู้บริโภค หรือผู้ซื้อมีจริงหรือเปล่า ไม่กล้าลงทุน หรือลงทุนไปแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จก็มี แต่เพลงนี้ เป็นเพลงแรกๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเพลง เริ่มเห็นคนซื้อ และยอดจำหน่ายไม่ใช่แค่ล้านตลับ แต่เป็น 3 ล้านตลับ

 

จุดเปลี่ยนที่ 3 # ยุคแกรมมี่ – อาร์เอส – คีตา ครองตลาดธุรกิจเพลงไทย

“เพลงสมปองน้องสมชาย” อัลบั้มชุดที่ 3 ของเต๋อ-เรวัติ พุทธินันทน์ ช่วงปี 2528

ผลจากความสำเร็จของคาราบาว สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการเพลงไทย ทำให้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคธุรกิจเพลงอย่างเต็มรูปแบบ นั่นคือ เป็นยุคค่ายเพลงใหญ่

ในช่วงเวลานั้นมี 3 ค่ายหลัก คือ แกรมมี่ – อาร์เอส – คีตา ผลิตเพลงแบบครบวงจร มีทั้งฝ่ายธุรกิจ – สร้างสรรค์งานเพลง – ฝ่ายการตลาด และประชาสัมพันธ์ ขณะเดียวกันค่ายเพลงใหญ่เริ่มมีสถานีวิทยุของตนเอง ที่เป็นสื่อหลักในการประชาสัมพันธ์ศิลปิน และเพลงต่างๆ ของค่าย

คุณอนุชา : ก่อนหน้านั้นธุรกิจเพลงไทย เป็นระบบนายห้าง คือ คนทำเพลงเขียนเพลงเสร็จ ขายให้นายห้าง โดยตกลงมูลค่าการซื้อขาย เมื่อขายให้แล้ว สิทธิ์ในเพลงนั้นๆ อยู่กับนายห้าง

จนกระทั่งเมื่อการผลิตเทปยุคนั้น บูมถึงจุดหนึ่ง จึงมีการตั้ง “ค่ายเพลง” ขึ้นมา มีผู้บริหารเป็นนักธุรกิจ และคนทำเพลงร่วมกัน ทำให้มีการผสมผสานทั้งวิธีการคิดแบบคนทำธุรกิจ และคนทำเพลง

Music Production

คุณอาทิตย์ : ค่ายเพลง คือ มีคนทำธุรกิจที่เป็นฝั่ง Commercial มีฝั่งทำ Marketing มีคนทำ PR มีคนรู้เรื่องเพลง และคนรู้เรื่องการตลาดอยู่ในบริษัท จากเมื่อก่อนคนทำเพลง ก็ทำไป แล้วเดินเร่หาให้วิทยุเปิด หาร้านวาง แต่โมเดลนี้ศิลปินทำเพลงอย่างเดียว ขณะเดียวกันมีคนจากส่วนงานอื่นๆ เข้ามาร่วมสร้างอัลบั้มด้วย

“อัลบั้มที่ 3 นี้ เป็นผลงานออกกับค่ายแกรมมี่ เป็นการสร้าง Record Label ที่สมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับระบบจากต่างประเทศ คือ มีทีมงาน มีนักแต่งเพลง มีการเซ็นสัญญา มีการแบ่งปันผลประโยชน์เกิดขึ้น มีการขายสปอนเซอร์ในตัวเทป มีการทำ Marketing Plan ทั้งประชาสัมพันธ์ และการแสดงคอนเสิร์ต

เป็นโมเดลของการทำการค้า โดยโปรดักต์หลัก คือ เพลงเป็นตัวนำ ส่งผลต่อการครองพื้นที่วิทยุ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการที่ค่ายใหญ่ครองตลาด ทำให้คนอื่นๆ หรือคนธรรมดาจะแจ้งเกิดทำได้ยาก”

 

จุดเปลี่ยนที่ 4 # เพลงอินดี้ ทางเลือกการฟังเพลงของคนรุ่นใหม่

ค่ายใหญ่ครองวงการเพลงไทย เป็นระยะเวลา 20 ปีโดยประมาณ กระทั่งวงการเพลงเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อเกิดวง “Modern Dog”

“เพลงบุษบา” ของศิลปินวง Modern Dog ค่ายเบเกอรี่ มิวสิค ช่วงปี 2537

คุณจักรพันธุ์ : คนไทยกลุ่มหนึ่งเริ่มเบื่อเพลงจากค่ายใหญ่ เพราะรู้สึกว่าซาวด์มี Trademark เพราะเป็นสูตรการตลาดที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมา ไม่ต้องลองผิดลองถูก ทำให้ดนตรีของ Modern Dog หรือค่ายใหม่ๆ ที่เข้ามา เป็นสิ่งใหม่ และมีซาวด์ดนตรีที่โดดเด่น ขณะที่ศิลปินไม่ได้ขายหน้าตา และศิลปินที่เล่นแนวดนตรีเอง

ประกอบกับการทำการตลาดที่เปลี่ยนไป ด้วยการเจาะกลุ่มคนที่ไม่ใช่ Generation เดิมๆ และ Mindset ของค่ายเพลงใหม่ ไม่ได้คิดว่าต้องขายได้ล้านตลับ แต่คิดว่า เอาเพลงเป็นตัวนำ และเอาศิลปินที่มีความเก่งจริง ปล่อยออกไป เป็นการมองธุรกิจที่ฉีก และกล้าในยุคที่ค่ายเพลงครองประเทศไทยในเวลานั้น

Music Listening

คุณอนุชา : กลไกในการประชาสัมพันธ์ของค่ายใหม่เปลี่ยนไป เนื่องจากในยุคนั้นเราถือว่า “เบเกอรี่ มิวสิค” เป็นค่ายอินดี้ ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นรู้สึกว่าการฟังแมส ไม่เท่

“กลไกตลาดของค่ายเบเกอรี่ มิวสิค คือ วันที่วางจำหน่าย ศิลปินสามารถไปโชว์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในสมัยก่อน ค่ายใหญ่ไม่ทำแบบนี้ อาจเป็นเพราะการร้องในห้องอัด กับการแสดงสด ต้องมีความพร้อมมาก

แต่ศิลปินค่ายเบเกอรี่ มิวสิค สามารถเล่นการแสดงสดได้ตลอด อย่างวางแผงวันแรก Modern Dog เปิดอัลบั้มที่ร้านน้องท่าพระจันทร์ จึงเกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นมา ทั้งการทำตลาด วิธีการทำเพลง และตอนนั้น Modern Dog ถือเป็นศิลปินที่ทำเพลงที่ล้ำสมัย และศิลปินวางแผ่นวันไหน จะมีคนมารอเพื่อซื้อ”

คุณจักรพันธุ์ : หลังจากเกิดค่ายเบเกอรี่ มิวสิค ในช่วงปี 2537 – 2541 มีค่ายอินดี้เกิดตามมาอีกเพียบไม่ต่ำกว่า 40 – 50 ค่าย

“สิ่งนี้ค่อนข้างสั่นคลอนผู้เล่นใหญ่ในตลาดพอสมควร ถึงขนาดที่ว่าค่ายใหญ่ แตกค่ายเล็กๆ ออกมา เพื่อแยกเซ็กเมนต์ชัดเจน เช่น แกรมมี่ มีค่ายเพลงใหม่ประมาณ 20 ค่าย ช่วงเวลานี้เป็นจุดเปลี่ยนของตลาดเพลงไทยที่มี Segmentation ชัดเจน”

 

จุดเปลี่ยนที่ 5 # ยุค MP3 เทปผี-ซีดีเถื่อนระบาดหนัก! ความท้าทายใหญ่วงการเพลงไทย

วงการเพลงไทย เดินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล Disrupt วงการ ด้วยพายุลูกแรกคือ MP3 สร้างแรงสั่นสะเทือนอุตสาหกรรมเพลงอย่างมหาศาล ตลอดทั้ง Supply Chain

ตั้งแต่ผู้ผลิต – เจ้าของธุรกิจ ศิลปิน ไปจนถึงการจัดจำหน่าย และเปลี่ยน Mindset ของคนฟังที่มองว่าเพลงคือสิ่งที่เข้าถึงง่าย ทำไมต้องจ่ายแพง และเป็นของฟรี ไม่จำเป็นต้องซื้ออีกต่อไป โหลดเถื่อนก็ได้ !! นำไปสู่การเกิดขึ้นของเพลงนี้…

เพลง “พันธ์ทิพย์” ของวงโลโซ ที่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม และอุตสาหกรรมเพลงได้เป็นอย่างดี

คุณอาทิตย์ : เทคโนโลยี MP3 เข้ามา ทำให้คนรู้สึกว่าการทำซีดี ทำได้ง่ายขึ้น ประกอบกับการพัฒนาของคอมพิวเตอร์ ทำให้เขาสามารถบันทึกเพลงได้เอง

“ส่งผลให้ Mindset ผู้บริโภคเปลี่ยนไป การที่เพลงเข้าถึงได้ง่าย ราคาถูกลง มูลค่า-คุณค่าของเพลง โดนบั่นทอนมากๆ คนเริ่มรู้สึกว่าทำไมฉันต้องจ่ายเงินให้กับเพลง เพลงเป็นสิ่งที่ควรจะได้มาฟรีหรือเปล่า

Music Industry
Photo Credit : Facebook Startup Thailand

คุณอนุชา : ยุคทำซีดีแรกๆ การทำซีดี ค่ายผู้ผลิตต้องส่งไปที่โรงงานต่างประเทศ และในช่วงนั้นถ้าเป็นเพลงไทย ราคาซีดีหน้าปกอยู่ที่ 350 บาท เพลงสากล 550 บาทต่อปก จากนั้นขยับลงมา 290 บาท และยุคนี้เหลือแค่ 155 บาท

“ด้วยความที่พันธ์ทิพย์ มีเทปผี ซีดีเถื่อนขาย จึงเป็นช่องทางหนึ่งของการขายแผ่นก๊อป ที่ใครจะซื้อเพลงไม่ถูกลิขสิทธิ์ ต้องไปที่นี่ ขณะเดียวกันยุคนี้ เป็นยุคที่เริ่มมีกฎหมายลิขสิทธิ์เข้ามา”

คุณจักรพันธุ์ : Mindset ผู้ฟังเพลงไม่จำเป็นต้องซื้ออีกแล้ว ทำลายธุรกิจเพลงพอสมควร ศิลปิน และค่ายเพลงต้องหาทางสู้กับ landscape ที่เปลี่ยนไป

เมื่อผู้บริโภคไม่ซื้อเพลง หรือซื้อน้อยลง การพึ่งพารายได้จากยอดขายอัลบั้มอย่างเดียว จึงไม่ใช่คำตอบของการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนในยุคนี้ นำไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่ของอุตสาหกรรมเพลงไทยที่จะทำให้ศิลปิน และค่ายเพลงดำรงอยู่ได้ นั่นคือ การสร้างรายได้หลากหลายทาง ไม่ใช่แค่ยอดขายอัลบั้มอย่างเดียวแบบในอดีต

 

จุดเปลี่ยนที่ 6 # ค่ายเพลง – ศิลปิน สร้างรายได้หลายทาง

เพลง “ทุกอย่าง” ของวง Scrubb ประมาณช่วงปี 2544 – 2545

คุณอาทิตย์ : ตอนที่ผมทำ Fat Radio เรามีความคิดว่าอยากจะเล่นเพลง Pop ที่ดี โดยไม่ได้เป็น Pop ที่ดาษดื่น เราเลือกเพลงที่เป็นวงดนตรีหน้าใหม่หลายวง ประกอบกับคนไม่ค่อยซื้อซีดีกันแล้ว และมูลค่าซีดีตกต่ำลง

“เพราะฉะนั้นศิลปินทางเลือก หรือศิลปินอิสระที่ไม่ได้มีใครอุ้มชู เรามองว่าจะทำอย่างไรให้เขาแจ้งเกิด เขาเอาตัวรอดได้ วิธีการคือ เอาศิลปินเหล่านี้ไปเจอแฟนเพลง-คนฟัง จึงเกิดเทศกาลดนตรีขึ้นมาคือ Fat Fest โดยที่เพลงก็ยังเป็นเพลง

แต่ขณะเดียวกันศิลปินยังมีรายได้มาจากทั้งการเล่นดนตรีสด การขายของ Merchandise รายได้มาจากการขายเสื้อยืด แผ่น Limited Edition ต่างๆ ซึ่งวง Scrubb เป็นตัวอย่างหนึ่ง ด้วยโมเดลนี้ทำให้ผู้ฟังเข้าถึงศิลปินได้ง่ายขึ้น”

คุณอนุชา : เนื่องจากยุคของ Scrubb เป็นยุคที่สถานีวิทยุ ถูกครอบงำโดยค่ายใหญ่ เพราะฉะนั้นเพลงที่เปิด จะเป็นเพลงของค่าย แต่ Fat Radio นำเพลงนอกกระแส ที่ไม่อยู่ในค่ายใหญ่มานำเสนอ จึงเป็นทางเลือกให้กับคนฟัง

 

จุดเปลี่ยนที่ 7 # YouTube เวทีเปิดให้ใครๆ ก็เป็นศิลปินได้

พัฒนาการของเทคโนโลยี และ Internet Penetration ในไทย มาพร้อมกับการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เปลี่ยนทั้ง Media Landscape และ Music Industry Landscape ทั่วโลก

นั่นคือ การเกิดขึ้นของ “YouTube” เปรียบเป็นเวทีเปิดกว้างให้ใครก็ได้ที่อยากแสดงความสามารถด้านต่างๆ มาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ โดยที่ผู้ฟัง – ผู้ชม คือคนทั่วโลก

เพลงของศิลปินวง “Room 39” คนไทย 3 คนที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ แจ้งเกิดจากการ Cover เพลงดัง ทั้งไทย และสากลผ่าน YouTube จนเป็นที่รู้จักในคนไทย และวันหนึ่งมีเพลงเป็นของตัวเอง

คุณอาทิตย์ : การทำเพลงเมื่อก่อน ต้องส่ง Demo ให้ค่ายเพลง แล้วรอให้ค่ายพิจารณา แต่เมื่อ YouTube เข้ามา เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่เปิดโอกาสให้คนที่ YouTube เรียกคนเหล่านี้ว่า Creator ได้เป็นศิลปิน (รวมถึงผลิตคอนเทนต์รูปแบบต่าง)

เพราะฉะนั้น YouTube กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ศิลปิน หรือแม้คนธรรมดาอยากทำเพลง ทำขึ้นมา และอัพขึ้นอยู่บน YouTube ซึ่งข้ามขั้นตอนมีเดียต่าง ตัดคนกลางไปอย่างรุนแรง”

คุณจักรพันธุ์ : นิยามความสำเร็จของศิลปินในทุกวันนี้ เราเลิกเรียกว่าล้านตลับแล้ว คำว่าว่าล้านตลับ กลายเป็นสิ่งที่ไม่ relate กับตลาดอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นล้านวิว และ Subscriber เท่าไร

ส่งผลให้ค่ายเพลงใหญ่ เลิกผลิตเพลงในรูปแบบ Physical

คุณอนุชา : ค่ายใหญ่อาจเลิกผลิต Physical แต่ถ้าเป็นน้องๆ อินดี้ตอนนี้ การทำ Physical เป็นสิ่งที่เขาโหยหา เขาอยากทำเทป ซีดี แผ่น Vinyl เพราะเขามองว่าการทำลง YouTube เป็นการทำฟรี วันหนึ่งก็หายไป แต่ได้ในแง่ของการประชาสัมพันธ์ ศิลปินปล่อยผลงานทาง YouTube และ Music Streaming

คุณอาทิตย์ : YouTube เป็นช่องทางปล่อยเพลง แต่ไม่ใช่สิ่งที่ศิลปินจะเก็บรักษาผลงานของเขาไว้ได้ เพราะฉะนั้นการบันทึกลงบนซีดี หรือ Physical ต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าพอถึงจุดๆ หนึ่ง ที่พีคมาก คนจะหาทางออก หาทางเก็บสิ่งนั้นไว้ นี่คือสิ่งที่เป็นตามธรรมชาติของกลไกทางการตลาด

 

จุดเปลี่ยนที่ 8 # Music Streaming เทคโนโลยีทำให้คนฟังมีอิสระ

พัฒนาการการฟังเพลง เดินทางมาถึงการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี “Music Streaming” ที่ทำให้ทุกคนสามารถฟังเพลงได้ตามต้องการ ด้วยการจัด Playlist ของตัวเอง และหนึ่งในศิลปินที่ประสบความสำเร็จจากแพลตฟอร์มี้

เพลงของ “The Toy” หนึ่งในศิลปินที่ประสบความสำเร็จจากแพลตฟอร์ม Music Streaming

คุณอาทิตย์ : Streaming คือ แอปฯ ที่คุณสามารถฟังเพลง โดยไม่มีข้อจำกัด แลกกับการจ่ายเงินจำนวนหนึ่ง หรือไม่จ่าย แล้วคุณได้ฟังเพลงตลอดเวลา จัด playlist ของตัวเอง มีอิสระในการฟังเพลง แต่สิ่งที่ Streaming ซ่อนอยู่ คือ AI – การจดจำพฤติกรรมการฟัง เกิดการเรียนรู้ ทำให้การฟังเพลงเป็น personalization

คุณอนุชา : การปล่อยเพลงบน Streaming ช่วยด้านการประชาสัมพันธ์มาก และเพลงยังเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ หลังจาก The Toy ปล่อยเพลงมาทั้งหมดแล้ว ทางค่ายตัดสินใจผลิตแผ่นออกมา เกิดปรากฏการณ์จองซีดี เป็นยุค Pre-order

 

จุดเปลี่ยนที่ 9 # ศิลปินภูมิภาคสร้างกระแสทั่วไทย ไม่ต้องใช้งบสูง – ไม่ต้องง้อค่ายใหญ่

การผลิตงานเพลงที่ผ่านมา จะมาจากส่วนกลาง คือ กรุงเทพฯ ผลิตแล้วปล่อยออกไปทั่วประเทศ แต่ทุกวันนี้ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะเมื่อเทคโนโลยีถูกลง คนเข้าถึงเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต ทำให้คนที่มีความสามารถด้านดนตรี ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของประเทศ ก็ปลุกปั้นผลงานดนตรีขึ้นมาได้เอง ด้วยงบประมาณ และงาน Production ที่ไม่ต้องใช้งบลงทุนสูง

เพลง “เลิกคุยทั้งอำเภอ เพื่อเธอคนเดียว” ของศิลปินลิลลี่ ได้หมดถ้าสดชื่น

คุณอาทิตย์ : เทคโนโลยีทำให้คนสามารถทำเพลงได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ทำให้เกิดศิลปินจากภูมิภาคต่างๆ อย่างศิลปินวงนี้ และเพลงนี้ ดังมาก มีงานโชว์ในภูมิภาค ทำให้รายได้หลักมาจากงานโชว์ และ YouTube โดยที่ยังไม่ได้ผลิตแผ่นอะไรออกมาเลย

คุณอนุชา : การที่ศิลปินเป็นนักเรียนมัธยม และทำเพลงออกมา ทั้งรูปแบบ และซาวด์ดนตรีที่เข้าถึงง่าย เป็นสิ่งที่ทำให้เพลงนี้ดัง โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน เป็นกลุ่มใหญ่ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ และใช้ YouTube

 

จุดเปลี่ยนที่ 10 # Idol Model เขย่าวงการเพลงไทย สร้างแฟนคลับ-ทำรายได้ไม่ใช่แค่ผลงานเพลง

อุตสาหกรรมเพลงเดินทางมาถึงโมเดลใหม่ที่เขย่าธุรกิจเพลงในไทยอย่างรุนแรงเช่นกัน นั่นคือ การเกิดขึ้นของ “Idol Model” ที่สมาชิกในวงเป็น “Idol” ไม่ใช่เพียงการถือไมค์ร้องเพลง และเต้น ออกคอนเสิร์ตเท่านั้น แต่ต้องทำหน้าที่เป็น “Idol”

“BNK48” วงเกิร์ลกรุ๊ปที่ต้นแบบมาจากญี่ปุ่น

คุณอนุชา : ปกติการทำเพลง คือ คุณจะเป็นนักร้อง หรือเป็นนักดนตรี แต่สำหรับ BNK48 เป็นโมเดลของการสร้าง Idol โดยที่สมาชิกในวงไม่ได้เป็นนักร้องโดยตรง แต่มีความสามารถอื่นๆ

คุณอาทิตย์ : BNK48 นำเสนอ Story ของวง และสมาชิก ทั้งในเรื่องความพยายามของสมาชิก ควบคู่กับการใช้สื่อที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างคุ้มค่ามาก และสร้างช่องทางการสื่อสารขึ้นเอง เพื่อให้แฟนคลับได้ติดตามต่อเนื่อง และอีเว้นท์ของวง ขณะที่เพลง บางเพลงอาจไม่ฮิตมาก แต่ใช้เรื่องแบรนด์ “BNK48” นำ ทำให้เห็นว่าธุรกิจดนตรี มีมากกว่าการขึ้นเวทีแสดงสด มีมากกว่าการขาย Merchandise แต่ยังลึกซึ้งไปกว่านั้น

คุณจักรพันธุ์ : ก่อให้เกิดความผูกพัน เป็น Commitment ระหว่าง Idol กับแฟนคลับ ซึ่งไม่เคยเห็นวงการเพลงยุคไหน ที่มี Brand Loyalty แข็งแกร่งเท่ายุคนี้

เมื่อไล่เลี่ยง 10 เพลง/ศิลปินดังกล่าว ถือเป็นการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์สังคมไทย – อุตสาหกรรมเพลงไทย ผ่านบทเพลง และศิลปินที่เป็นสื่อกลางบอกเล่าการเปลี่ยนผ่านในแต่ละยุคสมัย

“ความแข็งแรงของเทคโนโลยีจะเป็นจุดสำคัญที่ผลักดันให้วงการดนตรีขับเคลื่อนไป แต่สิ่งที่จะ return ที่จะทำให้ศิลปินมีรายได้ คือ สิ่งที่อยู่รอบๆ เช่น การแสดงดนตรี งาน merchandise ต่างๆ และความผูกพันระหว่างศิลปิน กับแฟนเพลง ทำให้ศิลปินอยู่ได้นานๆ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวผลักดัน

ถ้าไล่ดู 10 เพลง จะพบว่าทุกเพลงพอถึงจุดหนึ่งจะมีการพีค หรือการเบื่อของตลาด และคนจะไปอีกทางหนึ่งตลอด ไม่แน่ว่าถึงจุดหนึ่ง คนสนใจอยากเก็บทำซีดี – แผ่น Vinyl อาจจะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวกลับมา” คุณอาทิตย์ สรุปทิ้งท้าย 

Vinyl


  • 2.2K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ