เป็นที่ทราบกันดีว่า ช่วงสองปีที่ผ่าน ‘รถยนต์’ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในบ้านเราต้องเผชิญภาวะติดลบจากปัญหาของโควิด-19 และการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต เช่น ปัญหาชิปขาดตลาด เป็นต้น จนน่าสนใจว่า สถานการณ์และทิศทางของอุตสาหกรรมนี้ในปี 2565 จะเป็นอย่างไร
โตโยต้าได้เผยถึงยอดขายรถยนต์ในปี 2564 ว่า มียอดขายรวมภายในประเทศอยู่ที่ราว 759,119 คัน ลดลงจากปีก่อน 4.2% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเกิดปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต เช่น ปัญหาชิปขาดตลาด ฯลฯ
ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2565 เป็นไปได้ว่าโควิด-19 จะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แต่คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมดนอกจากนี้ ประชาชนเองก็เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ให้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว ส่วนปัญหาชิ้นส่วนการผลิตขาดตลาดก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงเช่นกัน เราคาดหวังว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับคืนสู่สภาวะปกติและคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2565 จะอยู่ที่ 860,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 13.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แบ่งเป็น
-รถยนต์นั่ง 292,500 คัน เพิ่มขึ้น 16.2%
-รถเพื่อการพาณิชย์ 567,500 คัน เพิ่มขึ้น 11.9%
โตโยต้าประกาศร่วมขบวนรถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับกลยุทธ์ในปี 2565 ของโตโยต้าในไทย โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า จะเดินหน้าตามการประกาศของอากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ที่ว่า โตโยต้ามีกลยุทธ์มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเฉพาะกลยุทธ์ด้านยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ซึ่งโตโยต้าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ครบทั้ง 30 รุ่น ภายในปี 2573 รวมไปถึงรถซีรีส์ bZ จำนวน 5 โมเดล ที่จะมาพร้อมกับแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่โดยเฉพาะ ตามเป้าหมายที่วางไว้ โตโยต้าจะขายรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ให้ได้ทั้งสิ้น 3.5 ล้านคัน ภายในปี 2573
นอกจากนี้ โตโยต้าได้ทุ่มเงินลงทุน 1.2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ แบ่งเป็น 0.6 ล้านล้านบาท ลงทุนด้านแบตเตอรี่ อีก 1.2 ล้านล้านบาท สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง ภายในปี 2573
สำหรับโตโยต้าในไทยได้ริเริ่มแนะนำเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2552 โดยครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ถึง 80% และมีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของโตโยต้ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปได้ 148,000 ตัน และปีที่ผ่านมาได้ทำการแนะนำ เลกซัส UX300e รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ และ เลกซัส NX450h+ ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด
ขณะที่แบรนด์โตโยต้า มีแผนที่จะแนะนำ bZ4X รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของซีรีส์ bZ ออกสู่ตลาดภายในปีนี้ รวมถึงพยายามส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าอีกหลากหลายรุ่นต่อไปในอนาคต และทำ ‘โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนโดยปราศจากมลภาวะ’สาธิตให้เห็นถึงการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าหลากหลายประเภทในการเดินทางคมนาคม ภายในเมืองพัทยา ที่ได้เริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ในการริเริ่มใช้โครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด เช่น ไฮโดรเจน พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวภาพ ใน ‘นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด’