สตาร์บัคส์คอฟฟี่ เลือกประเทศไทยเป็นแห่งแรก นอกจากประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดร้านกาแฟเพื่อชุมชน (Community Store) โดยเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา Mr. Howard Schultz (ฮาเวิร์ด ชูลท์ซ) บุรุษผู้ที่ซื้อกิจกรรมร้านกาแฟ สตาร์บัคส์ ในเมือง Seatle, US จากเจ้านายของตน และเป็นผู้บุกเบิกร้านกาแฟ Starbucks จนมีสาขาทั่วโลกอย่างที่เห็น ได้บินมาเพื่อร่วมฉลองครบรอบ 15 ปีของการดำเนินธุรกิจสตาร์บัคส์ ประเทศไทย และเปิดตัวร้านกาแฟแห่งแรกของเอเชีย ณ สาขาหลังสวน โดยจะมอบรายได้ 10 บาทจากการจำหน่ายเครื่องดื่มสตาร์บัคส์ทุกแก้ว ให้แก่ชุมชนชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือของประเทศไทย
นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ ยังมีแผนเดินหน้าขยายธุรกิจและสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญในการสร้างการเติบโต ในวันนี้ สตาร์บัคส์ ยังได้ประกาศขยายจำนวนสาขาในประเทศไทยอีกเท่าตัวในอีก 5 ปีข้างหน้า ตลอดระยะเวลา 15 ปี ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย สตาร์บัคส์ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าด้วยการสนับสนุนและความผูกพันที่มีต่อสตาร์บัคส์ สตาร์บัคส์จะยังคงมุ่งมั่นนำนวัตกรรมและการลงทุนอย่างต่อเนื่องมาสู่ชุมชนในประเทศไทย
ร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งนี้เปิดดำเนินการเป็นแห่งที่ 4 ของโลก ซึ่งอีก 3 ร้าน ตั้งอยู่ที่ลอสแองเจลิส นิวยอร์คและเท็กซัส โดยร้านกาแฟเพื่อชุมชนแต่ละร้านได้ดำเนินการภายใต้คำมั่นสัญญาของสตาร์บัคส์ที่ต้องการตอบแทนคืนสู่ชุมชน ด้วยปณิธานที่ว่าหากชุมชนได้รับการดูแลให้เติบโตเป็นอย่างดีแล้ว ทุกคนที่อาศัยในชุมชนก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน ร้านกาแฟเพื่อชุมชนแต่ละร้านมีแนวทางการดำเนินการที่แตกต่างกันไปตามแต่ความต้องการของแต่ละชุมชน แต่สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกัน คือ ความเชื่อที่ว่าเมื่อคนในชุมชนได้ร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว สิ่งดีๆ สามารถเกิดขึ้นตามมา
ด้วยความร่วมมือกันระหว่างลูกค้าและสตาร์บัคส์ สตาร์บัคส์จะมอบรายได้ 10 บาท จากการจำหน่ายเครื่องดื่มสตาร์บัคส์ทุกแก้วที่ร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งนี้ มอบให้แก่ องค์กรพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (The Integrated Tribal Development Program) หรือ ITDP เพื่อเป็นเงินสนับสนุนในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้แก่ชุมชนบ้านแม่ขี้มูกน้อย และบ้านกองกาย อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยหลังจากนั้น จะนำไปพัฒนาโครงการด้านการศึกษา สุขอนามัยและโครงการชลประทานต่างๆ อีกด้วย ที่ผ่านมาสตาร์บัคส์ได้มอบความช่วยเหลือแก่ชุมชนชาวไร่กาแฟทางภาคเหนือของไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โดยรายได้ 5% ของการจำหน่ายกาแฟ ม่วนใจ๋ เบลนด์ ซึ่งเป็นกาแฟที่เพาะปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของไทยได้ถูกนำกลับมาพัฒนาและช่วยเหลือชุมชนที่เพาะปลูกกาแฟม่วนใจ๋ เบลน์ นั่นเอง
ิ