ก๊อปคนอื่นมาเยอะแล้ว! ถึงคราว Tech Company จีน พลิกเกมเปลี่ยนยักษ์เทคฯ ญี่ปุ่น-อเมริกาเป็นผู้ตาม

  • 895
  •  
  •  
  •  
  •  

China-US-Japan Technology

หากย้อนไปดูพัฒนาการด้านเทคโนโลยีของประเทศจีนอย่างคร่าวๆ จะพบว่าเริ่มต้นการเป็นฐานการผลิตของโลกในฐานะ “OEM” (Original Equipment Manufacturer) ให้กับ Global Brand มากมาย เนื่องจากในอดีตจีนเป็นประเทศที่มีค่าแรงถูก ทำให้บริษัทใหญ่ย้ายฐานการผลิตมาปักหมุดจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามบริษัทที่เข้าไปลงทุนในจีน ต้องเจอนโยบายของรัฐบาลจีน ที่กำหนดให้บริษัทต่างชาติต้องโอนเทคโนโลยี (Forced Technology Transfer) นี่จึงทำให้จีนสามารถพลิกจากประเทศ OEM ขยับไปสู่ “OBM” (Original Brand Manufacturer) ที่เริ่มต้นจากการใช้โมเดล “Copy & Development” (C & D) กระทั่งทุกวันนี้สามารถพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีของตนเองขึ้นมากมาย

ประกอบกับรัฐบาลจีน มุ่งมั่นปฏิรูปประเทศต่อเนื่อง นับตั้งแต่ “ประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิ้ง” มาจนถึง “สี จิ้นผิง” ผู้นำคนปัจจุบันที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วย “นวัตกรรม และเทคโนโลยี” และประกาศนโยบาย “Made in China 2025” เพื่อพยายามเปลี่ยนสถานะประเทศ จากเป็นแหล่งผลิตของโลก ให้กลายเป็น “ศูนย์กลางนวัตกรรมของโลก” ทำให้ปัจจุบันจีนมีทั้ง Tech Company ที่เติบใหญ่เป็นบริษัท-แบรนด์ระดับโลก และ Tech Startup เป็นจำนวนมาก

เพราะฉะนั้นปัจจุบันจะเห็นว่าผลสำรวจองค์กรระดับโลก และแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดของโลก มักจะปรากฏ “บริษัทจีน” และ “แบรนด์จีน” ติดอันดับ Top 10

ด้วยเหตุนี้เองจากที่เคยถูกมองว่าเป็น “Copycat” หรือ “นักลอกเลียนแบบ” เวลานี้ต้องมองจีนในมุมใหม่ ที่หลายเทคโนโลยี หลายคอนเซ็ปต์ ก็ริเริ่มจากแบรนด์จีนเป็นรายแรกๆ เช่นกัน

โดยใช้ความได้เปรียบจากการมี Market Size ขนาดใหญ่อย่างประเทศจีน ตลาดบ้านเกิดของตนเองในการสร้างฐานลูกค้า และหลายๆ เทคโนโลยีได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แล้วจึงขยายธุรกิจออกนอกจีน ทำให้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลกหลายรายต้องเดินตาม นับเป็นการ Repositioning คู่แข่งจากที่เคยเป็นผู้นำ ให้กลายเป็นผู้ตาม !!!

Made in China 2025

 

“Super App” ตลาดใหญ่อยู่ที่จีน

ประเทศจีน ถือเป็นผู้บุกเบิก “Super App” หรือจะเรียกว่า “Everyday App” ก็ได้เช่นกัน เป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมบริการในชีวิตประจำวันภายในแอปฯ เดียว เช่น แชท, บริการเรียกรถ, สั่งอาหาร, จองตั๋วการเดินทาง, จองโรงแรมที่พัก, บริการธุรกรรมทางการเงิน, ช้อปปิ้งออนไลน์ ฯลฯ

Super App ยอดนิยมของคนจีนมี 3 แอปฯ สำคัญ คือ

“WeChat” ของ Tencent ที่เรียกได้ว่าเป็นทุกอย่างเพื่อเธอ! ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเป็นประจำมากกว่า 1,000 ล้านคนต่อเดือน (Monthly Active Users)

“Alipay” ของ Alibaba มีผู้ใช้งานมากกว่า 1,000 ล้านคนต่อเดือน (Monthly Active Users)

“Meituan” เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลให้บริการรูปแบบ O2O เช่น ส่งอาหาร ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 289 ล้านคนต่อเดือน

Super App-WeChat-FacebookMessenging

ขณะที่นอกประเทศจีน ปัจจุบันหลายแอปพลิเคชัน พยายามต่อจิ๊กซอว์สร้าง Business Ecosystem เพื่อยกระดับให้เป็น “Super App” เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

“Facebook” แอปพลิเคชัน Messaging ได้เติมฟีเจอร์ให้ครอบคลุมการใช้งานต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เพื่อให้เป็นมากกว่าแอปฯ แชท เช่น บริการแชทบอต, เกม, บริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ

“LINE” เริ่มต้นจากการเป็นแพลตฟอร์มส่งข้อความ แต่ปัจจุบันเป็น Super App มีบริการทั้งกระเป๋าเงินดิจิทัล, สตรีมมิ่ง ทั้งวิดีโอคอนเทนต์บันเทิง และข่าว, บริการให้อ่านการ์ตูนออนไลน์

“Go-Jek” ของอินโดนีเซีย เริ่มต้นจากบริการเรียกรถจักรยานยนต์ ปัจจุบันมีมากกว่า 18 บริการ เช่น ส่งอาหาร, ชำระเงิน, นวด

Super App-Alipay-LINE Super App-Meituan-Go-Jek

 

“Social+ for Ecommerce” ผสานสื่อสังคมออนไลน์ เข้ากับการช้อปออนไลน์

แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ในจีน ถือเป็นผู้บุกเบิกการช้อปปิ้งรูปแบบใหม่หลายรูปแบบ เช่น ซื้อเป็นกลุ่ม และ Live Streaming เป็นกลยุทธ์ Impulse Purchase ที่กระตุ้นให้คนเกิดการตัดสินใจซื้อได้เร็ว และง่ายขึ้น

“Taobao” อีคอมเมิร์ซรูปแบบ C2C รายใหญ่ของ Alibaba

“Pinduoduo” อีคอมเมิร์ซมาแรงของจีน ใช้กลยุทธ์สร้างความแตกต่างจากอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ด้วยการใช้แนวคิด “รวมกลุ่มกันซื้อ” ยิ่งรวมกันได้หลายคน ราคาก็จะยิ่งถูกลง

“Mogu” แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านแฟชั่นของจีน เป็นทั้งสื่อสังคมออนไลน์ และอีคอมเมิร์ซ ครอบคลุมทั้ง Live Streaming, วิดีโอสั้น, บทความ, รีวิว, รูปภาพ

ด้วยกลยุทธ์ และแทคติกการขายแบบเหนือเมฆของฝั่งอีคอมเมิร์ซจีน ทำให้การขายรูปแบบ Live Streaming และรวมกลุ่มเติบโตอย่างรวดเร็วในจีน

eCommerce-Taobao-AmanzonLive

ทำให้ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของโลกอย่าง “Amazon” ต้องปรับตัว เช่นเดียวกับ “Instagram” ที่นอกจากเป็น Social Media แล้ว ยังเป็น Social Commerce รายใหญ่ และ “YouTube” ยังต้องมาทำช้อปปิ้งออนไลน์

“Amazon Live” วิดีโอสตรีมมิ่งสำหรับการช้อปปิ้ง เพิ่งเปิดตัวเมื่อกุมภาพันธ์ 2019 โดยจะสาธิตสินค้า และผู้ชมสามารถซื้อได้โดยตรงทันทีที่ด้านล่างวิดีโอ

“Checkout with Instagram” เปิดตัวเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา สามารถเข้าถึงผู้ใช้งาน 130 ล้านคน ขั้นตอนซื้อสินค้าเพียงแค่แตะที่ Tags ที่อยู่บนภาพสินค้า โดยไม่ต้องออกจากแอปฯ

“Google” วางแผนเพิ่มฟีเจอร์ช้อปปิ้งออนไลน์บน YouTube โดย YouTube จะให้คำแนะนำด้านการขาย-การช้อปปิ้ง, ร่วมแชร์ค่าธรรมเนียม, ทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งช่วยด้านโฆษณา

eCommerce-Pinduoduo-IGeCommerce-Mogu-Youtube

 

“Short Video” สร้างปรากฏการณ์ลิปซิงค์ทั่วโลก

ถ้าพูดถึงผู้ที่จุดประกายให้แพลตฟอร์มทำคลิปวิดีโอสั้น (Short Video) ขยายไปอย่างรวดเร็ว คงต้องยกให้ “TikTok” แอปพลิเคชันทำคลิปวิดีโอสั้นที่ให้ผู้ใช้งานลิปซิงก์เพลง และเต้นประกอบ พัฒนาโดย ByteDance บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีน สามารถเบียดสื่อ Social Media รายใหญ่ ก้าวขึ้นมาแจ้งเกิดได้สำเร็จ

เพราะฟีเจอร์ของ TikTok ตอบโจทย์ Insight คนรุ่นใหม่ที่อยากมีพื้นที่ให้เขาได้แสดงตัวตนผ่านคลิปวิดีโอสั้น
สร้างปรากฏการณ์เป็นแอปฯ ที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดบน iOS ติดต่อเป็นเวลา 5 ไตรมาสติดต่อกัน และถือแอปฯ วิดีโอสั้นที่ประสบความสำเร็จ สะท้อนได้จากความนิยมใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในจีน

ทุกวันนี้ “TikTok” ไม่เพียงเป็นหนึ่งใน Social Media เท่านั้น แต่ยังเป็น Marketing Platform ของบรรดาแบรนด์สินค้าต่างๆ ใช้เป็นช่องทางเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และปัจจุบันได้ขยายออกสู่ตลาดต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือ ไทย

Short Video-TikTok-Snapchat

เมื่อเทรนด์ “Short Video” มาแรง ทำให้ Social Media ฝั่งอเมริกาไม่อาจนิ่งเฉย มองข้ามไปได้

“Snapchat” พัฒนาฟีเจอร์ “Lens Challenges” ที่ผู้ใช้งานลิปซิงค์เพลง ซึ่งดูเหมือนได้รับแรงบันดาลใจมาจาก TikTok

“Facebook” เปิดตัวแอปพลิเคชัน Lasso เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 เป็นแอปฯ วิดีโอสั้น รับเทรนด์คนนิยมถ่ายวิดีโอสั้น และแข่งกับ TikTok

Short Video-Kauishou-Facebook-Lasso

 

Source : China Internet Report 2019


  • 895
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE