ถอดรหัสดีเอ็นเอ “พิกุล ศรีมหันต์” ผู้หญิงแกร่งลูก SME ตัวจริง กับภารกิจขับเคลื่อน SME ยุทธศาสตร์ใหญ่ไทยพาณิชย์

  • 9.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด SME Segment ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ “พี่จอก” ที่วันนี้ได้มีโอกาสขยับมาทำงานใหญ่ซึ่งเป็นภาระกิจสำคัญไม่เฉพาะแค่กับองค์กร แต่มันคือภาระกิจเพื่อชาติในการช่วยขับเคลื่อน SME ไทย แต่แม้ว่าจะเปลี่ยนย้ายไปกี่ตำแหน่ง จากการพูดคุยเราก็ยังพบว่า Passion และ Energy พี่จอกก็ยังคงเต็มเปี่ยมเช่นเดิม ที่สำคัญคือยังเป็นพี่จอกที่ทั้งใจดี และเป็นแหล่งความรู้ให้กับทุก ๆ คนอยู่เสมอ

ยิ่งกว่านั้น ไม่ว่านักข่าวจะเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปสักกี่คน แต่ “พี่จอก” คนนี้ก็ยังสวมเสื้อสีม่วง สีประจำแบงก์เก่าแก่ที่สุดของประเทศนั่นคือ “ไทยพาณิชย์” นั่นจึงทำให้ พี่จอกเป็นที่รู้จักในฐานะแบบอย่างของบุคลากรที่รักองค์กรยิ่งชีวิต

หลายคนที่เคยสัมภาษณ์และขอประวัติการทำงานของพี่จอกต่างตะลึงไปกับประวัติการทำงานตลอดระยะเวลา 25 ปี ซึ่งแตกต่างจากผู้บริหารองค์กรใหญ่มากมายที่ส่วนใหญ่ผ่านการทำงานมาแล้วหลายองค์กร แต่สำหรับพี่จอกนั้นมีประวัติการทำงานเพียงแค่บรรทัดเดียว’ เท่านั้นนั่นคือ ธนาคารไทยพาณิชย์

SCB_1

ประวัติการทำงาน บรรทัดเดียว

อาจเรียกได้ว่า คุณพิกุล เป็นลูกหม้อคนสำคัญของไทยพาณิชย์มาอย่างยาวนาน หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทด้านพัฒนาเศรษฐกิจ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เธอก็เข้าร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในโครงการ Management Trainee และบรรจุเป็นพนักงานสินเชื่อฝ่ายพาณิชยกรรม ดูแลลูกค้ากลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และวัสดุก่อสร้าง นี่คือจุดเริ่มต้นในตำแหน่งเล็ก ๆ ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในองค์กร

“ทำงานมาที่นี่ที่แรกที่เดียวตั้งแต่เรียนจบ เป็นพนักงานระดับจูเนียร์ แล้วก็คิดว่าจะอยู่จนเกษียณด้วย ที่อยู่มาได้เพราะไม่ได้คิดว่าเป็นลูกจ้างกับนายจ้างแล้ว แต่คิดว่าธนาคารเป็น พ่อแม่ สาเหตุเพราะในวันที่จบใหม่ไม่มีที่ไหนที่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ ตกงาน 1 ปี ไม่มีที่ไหนจ้าง ไม่มีที่ไหนรับเข้าทำงานแม้แต่ที่เดียว แต่ว่ามีไทยพาณิชย์ที่รับเราเข้าทำงาน ดังนั้น ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานจึงคิดว่าเราเป็นทรัพย์สินของไทยพาณิชย์ และตั้งใจแล้วว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ดี ที่พร้อมจะดูแลทุกเรื่องให้ไทยพาณิชย์”

ตลอดการทำงานทั้งชีวิตที่ผ่านมา มุ่งมั่นว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ดีขององค์กร พี่จอกยึดมั่นต่อปณิธานดังกล่าวและได้ร่วมฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงด้านงานธนาคาร ไปจนถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 หรือแม้แต่วิกฤตทางการเงินอื่น ๆ ที่ผ่านมา จนกระทั่งทุกอย่างฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติเธอก็ยังยืนอยู่ข้างไทยพาณิชย์ และหากย้อนกลับไปดูประวัติการทำงานในหน้าที่การดูแลสินเชื่อบ้าน เธอสามารถปั้นธุรกิจนี้ก้าวกระโดดจาก 200,000 ล้านบาทเป็น 600,000 ล้านบาท และนำธนาคารขึ้นคงที่เป็นที่ 1 ของสินเชื่อบ้าน นับเป็นหนึ่งในความสำเร็จของการทำงานของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้

SCB_2

เติบโตมากับครอบครัวแบบฉบับ SME ขนานแท้ ทั้งแนวคิดและการทำงาน

แต่นั่นยังไม่ใช่ความท้าทายที่สุด เมื่อไทยพาณิชย์ประกาศจะพลิกโฉมวงการธนาคาร ผลักดันตลาด SME ไทย พร้อมกับปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่แบบ ‘กลับหัวตีลังกา’ นับเป็นงานช้างที่อาจเรียกได้ว่าแบกรับรากฐานของเศรษฐกิจประเทศ เธอยกมือขอออกจาก comfort zone คือสินเชื่อบ้าน ผู้หญิงตัวเล็กที่ชาวไทยพาณิชย์ทุกคนจะคุ้นเคยกับภาพของการยกมืออาสาขึ้นรับงานหนักเสมอ

บทบาทเราไม่ได้แค่สวมชื่อตำแหน่ง เพื่อสะท้อนว่าเราดูแล SME แต่ว่าตำแหน่งตรงนี้รับผิดชอบทั้งธนาคารในการที่ทำให้ภาพรวมกลยุทธ์การกลับหัวตีลังกา Upside Down เป็นจริงให้ได้ นั่นคือ ทำงานภาพรวม 80% ส่วนอีก 20% คือการให้ไดเร็คชั่นแก่พนักงานแถวถัดไปได้ทำงาน มันไม่ใช่แค่รับผิดชอบธุรกิจ SME เลเวลระดับนี้คือต้องรับผิดชอบธุรกิจทั้งหมดของธนาคาร เพราะฉะนั้นการวางโครงสร้าง การวางกลยุทธ์การทำงานทั้งหมด ต้องทำงานกับผู้บริหารระดับสูงไปพร้อม ๆ กับพนักงาน ทำงานเป็นทีมเวิร์คคู่กันไป”

เมื่อถามว่าทำไมถึงเข้าใจหัวใจคนทำ SME พี่จอกตอบอย่างภูมิใจว่า เพราะเราโตมากับครอบครัว SME พ่อจับปลามาได้ แม่ก็มีหน้าที่เอาไปขาย กำไรเอาไปซื้อที่ดินเพื่อทำสวน คือเป็นทั้งสองอย่างระหว่าง SME และเกษตรกร เราเป็นชาวประจวบคีรีขันธ์ที่พ่อมีอาชีพประมง มีเรือของที่บ้านคอยหาปลา แต่ไม่ใช่เรือใหญ่เป็นเรืออวนดำจับปลาเศรษฐกิจยาว 11 วา 2 ลำ  ใน 1 ลำมีคนงาน 50 คน จับปลาได้วันนึงเฉลี่ยประมาณ 5,000-10,000 กิโลกรัมต่อลำ หนึ่งเดือนจะได้หยุดแค่ 4-5 วันเท่านั้น ดังนั้น ภาพของคนหาเช้ากินค่ำเราเติบโตและเห็นมาตลอด

พอมองแล้วเข้าใจเลยว่าชีวิต SME วัน ๆ ไม่มีเวลาเลย ยุ่งแต่กับการค้าขาย ระบบจัดการก็ไม่เป็นมืออาชีพ แต่ก็จะทำธุรกิจในแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว เพราะโลกมันบังคับให้ต้องเปลี่ยน แต่ถ้าถามว่าต้องทำยังไง ก็คือการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก และหลายคนก็ยังไม่พร้อม ดังนั้น จะต้องให้เวลาในการปรับตัวและปรับใจ ชี้ให้เขาเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีและออนไลน์ซึ่งจะสร้างยอดขายลดต้นทุนให้กับเขาได้

SCB_3

ผู้นำแบบคลุกฝุ่น ที่เข้าใจหัวใจคนทำงานและ SME

เมื่อพูดถึงผู้บริหารระดับสูง หลายคนคงคิดถึงห้องแอร์ส่วนตัวเย็นสบาย แต่สำหรับพี่จอก คือผู้หญิงที่ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือลูกค้าทุกระดับ รวมไปถึงการสอนงานลูกน้องแบบไม่หวงวิชา ดังนั้น ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาจึงทำให้เธอมักจะให้คำแนะนำกับทุก ๆ คนไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือลูกน้องภายใต้ครอบครัว SME ขนาด 1,500 คน และกำลังจะเพิ่มจำนวนอีกเท่าตัวในเร็ว ๆ นี้ จากการรับโยกย้ายพนักงานมาจากส่วนงานที่เทคโนโลยีจะไปทดแทน เพื่อเป็นอีกกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศผ่านการผลักดันธุรกิจ SME ไทย

ในขณะเดียวกัน พี่จอกก็ไม่คิดที่จะลืมบ้านเกิดของเธอ ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งนับว่าเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทางของการผลักดัน SME เป้าหมายสุดท้ายในชีวิตของพี่จอก ซึ่งเรื่องนี้เห็นมาแต่เด็กจากการทุ่มเททำงานเพื่อชุมชนของคุณแม่ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานและดำเนินชีวิตมาตลอด

ซึ่งกลายมาเป็นสิ่งที่พี่จอกปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอนั่นคือ การ “Give before Take” คติประจำใจของพี่จอกที่แม้เธอจะไม่ค่อยพูด แต่ทุกสิ่งที่เธอลงมือทำก็ทำให้เราประจักษ์ในข้อนี้ และทำให้น้อง ๆ พนักงานซึมซับจนกลายเป็นวัฒนธรรมระดับย่อยขององค์กร

SCB_4

ประกาศตัวขออยู่ ไทยพาณิชย์ ที่นี่ที่เดียวจนวันเกษียณ

เชื่อว่า 20 กว่าปีที่ทำงานมาย่อมมีเรื่องให้เหนื่อยและท้อใจบ้าง ซึ่งพี่จอกเล่าถึงวิธีในการจัดการกับปัญหาให้ฟังว่า ให้ทำตัวเหมือนตุ๊กตาล้มลุก คือล้มแล้วต้องลุกให้เร็วที่สุด เพราะเรามีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการต่อไป มันเหมือนว่ากระบวนการนี้ถูกฝึกมาตั้งแต่เล็ก อายุ 13 เด็กต่างจังหวัดที่ต้องไปเรียนหนังสือกรุงเทพฯ ห่างไกลบ้านแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นทุกอย่างมีสำนึกในหน้าที่ที่ต้องดำเนินต่อไป

“พอคิดถึงหน้าที่ หน้าที่ผู้บริหารคือรับผิดชอบธุรกิจธนาคารและหน้าที่ในการต้องรับผิดชอบพนักงานทั้งธนาคารมีทั้งลูกน้องตัวเองและไม่ใช่ลูกน้องตัวเองมัวแต่นั่งเศร้าคงไม่ได้ เวลาเศร้าหรือจิตตกมันก็ทำให้หน้าที่ตรงนี้ถูกละเลย พี่ก็เลยคิดว่าฉันไม่มีเวลามานั่งเศร้าเสียใจ ไม่รู้เสียใจไปทำไม หน้าที่คุณคุณต้องรับผิดชอบธุรกิจธนาคาร เพราะคุณเป็นลูกจ้างธนาคารคุณต้องรักองค์กรนี้มหาศาล พี่รักธนาคารโดยไม่ต้องมีคำว่าต้อง เพราะพี่อยู่ตั้งแต่เรียนจบ 20 กว่าปี และประกาศว่าจะอยู่แบงก์นี้ไปจนกระทั่งเกษียณ”

นอกจากนี้ อีกแง่คิดหนึ่งที่ทำให้ทุกเช้าของการทำงานของพี่จอกถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนทำงานทุกคน คือนอกจากที่จะคิดทำเพื่อธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมต่อประเทศชาติควบคู่กันไปด้วย ทำให้งานทุกอย่างมีความหมาย

การทำงานที่ไทยพาณิชย์ไม่ใช่แค่การทำงานธนาคารแต่เราทำงานในองค์กรที่เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ ธนาคารแห่งแรกและเป็นสถาบันหลักที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ เงินฝากของประชาชนคุณต้องรับผิดชอบ เป็นสถาบันที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างแรงกล้า ฉะนั้นความซื่อสัตย์เป็นเรื่องใหญ่มากในชีวิตของพนักงานธนาคาร ดังนั้น มันคือการสร้างความภูมิใจว่าคุณอยู่ในองค์กรที่คุณได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน และคุณอยู่ในองค์กรที่มีความสำคัญกับประเทศอีกด้วย

คุณพ่อและคุณแม่ คือไอดอลคนสำคัญ แบบอย่างการทำงานและการใช้ชีวิต

พี่จอก คือต้นแบบของพนักงานที่รักองค์กรและเป็นไอดอลของน้อง ๆ พนักงานทุกคน ดังนั้น คงอดถามไม่ได้ว่าแล้วใครคือไอดอลของพี่จอกซึ่งพี่จอกตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่าคือ “บุพการี”

พ่อเป็นคนซื่อสัตย์ ขยันและมัธยัสถ์ แม่เป็นผู้นำทั้งครอบครัวและชุมชนการเดินมาถึงตรงนี้จากลูกเกษตรกรและลูก SME มาเป็นผู้บริหารอันดับ 2 ของไทยพาณิชย์ ทุกอย่างที่ได้มาเพราะครอบครัวที่ดีของเราปลูกฝังให้เรารู้จักคำว่าหน้าที่ความรับผิดชอบและทดแทนบุญคุณของธนาคาร

“ถ้าวันไหนพี่ไม่สบายไม่ไปทำงาน แม่โทร.ถามเลยเป็นอะไร อยู่บ้านใช่ไหม ถ้าบอกว่าปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้แม่จะถามกลับเลยว่าแล้วขาเป็นอะไรรึเปล่า ถ้าไม่ได้เป็นอะไรก็ให้ขับรถไปทำงานเลย เพราะฉะนั้นพี่จะกลัวแม่มาก ให้แม่รู้ไม่ได้เลยว่าลาป่วยหรือลาพักร้อนไม่งั้นจะโดนดุเอา นั่นคือสิ่งที่แม่สอนเราให้มีความรักในไทยพาณิชย์เมื่อตัดสินใจเป็นพนักงานของเขาแล้วเราก็ต้องรักองค์กรให้มาก”

SCB_5

แพชชัน ด้วยการทำงานในหน้าที่และตอบแทนสังคม

เราถามถึงอนาคตค่อนข้างไกลกับพี่จอกไปว่า หลังเกษียณจะไปทำอะไร พี่จอกตอบแบบยิ้ม ๆ และไม่ลังเลเลยว่า ก็คงทำเหมือนคุณแม่ แม่เป็นประธานกลุ่มสตรีอาสาเพื่อพัฒนา ตำบลคลองวาฬ ดูแลสมาชิกประมาณ 1,000 ครัวเรือน มาเป็นเวลานานมากที่ตอนนี้รายได้จากสวนมะพร้าวก็ทำเพื่อชุมชนทั้งหมด เพราะแม่บอกว่าเวลาของเขามันนับถอยหลัง ดังนั้น ความสุขของเขาคือการทำให้คนในชุมชนมีอาชีพ มีเงินมีรายได้เลี้ยงครอบครัว เช่นเดียวกับการที่ได้มาผลักดัน SME ก็เป็นความฝันของเราด้วยที่อยากเดินตามรอยเท้าแม่ให้ประเทศชาติได้พัฒนาต่อไป

“พี่ก็คิดว่าเรื่องนี้พี่จะเดินตาม เพราะฉะนั้นเวลาคนถามว่าหลังเกษียณจะทำอะไร พี่ก็เลยต้องกลับไปตอบแทนชุมชนไปให้อะไรแก่บ้านเกิดตัวเอง แม่สอนว่าคนเราตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้เราอยากให้คนจำในสิ่งที่ดี ไปงานศพเราเพราะเขารักเรา เพราะฉะนั้นจุดสุดท้ายของพี่จะเหมือนแม่อยากให้ทุกคนจำสิ่งดี ๆ ที่พี่ทำให้ก่อนตาย คิดว่าถึงตอนนั้นแม่คงไม่ไล่กลับไปทำงานแล้ว”

นับเป็นความมุ่งมั่นของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า “พิกุล ศรีมหันต์” ที่แบคกราวน์ชีวิตของเธอเติบโตมากับครอบครัวชาวบ้านธรรมดาที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงได้ด้วยความสามารถและมีสายเลือด SME อยู่ใน DNA ทุกอณู จึงไม่แปลกที่ “ไทยพาณิชย์” จะเลือกเธอมากุมบังเหียนเพื่อช่วยขับเคลื่อน SME อันเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย เพื่อทรานส์ฟอร์ม SME 4.0 ในครั้งนี้


  • 9.4K
  •  
  •  
  •  
  •